โฆษกรัฐบาล เผย ผลสำเร็จภารกิจด้านน้ำตามแผนแม่บทน้ำฯ ของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 61-ปัจจุบัน เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้านได้ถึง 4,973 แห่ง พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรได้ปริมาณน้ำ 149 ล้าน ลบ.ม. นายกฯ ย้ำเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศให้เกิดความยั่งยืน
วันนี้ (6 ม.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจด้านทรัพยากรน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เชื่อมโยงกับแผนแม่บทลุ่มน้ำ แผนจังหวัดและแผนชุมชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการน้ำของชุมชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำของตัวเอง ซึ่งรัฐบาลและพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญในการอนุมัติงบประมาณให้กับแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน พัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน พัฒนาน้ำบาดาล เพื่อการเกษตร สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน ซึ่งจากการดำเนินการตามแผนแม่บทน้ำฯ ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้านได้ถึง 4,973 แห่ง พัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 1,189 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรได้ปริมาณน้ำ 149 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัย มีพื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 32,005 ไร่ ประชาชนได้รับการป้องกัน 27,364 ครัวเรือน สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน 14 แห่ง และอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำได้ถึง 156,070 ไร่ เป็นต้น
นายอนุชา กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำตามนโยบายรัฐบาลเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนหลายโครงการครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย และเกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง อาทิ การพัฒนาเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา บึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร ขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือในระยะยาวอย่างเป็นระบบให้เกิดความมั่นคง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก รวมไปถึงจัดทำแผนงานและโครงการจัดหาน้ำบนดินและใต้ดิน เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับใช้แก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ในระยะเร่งด่วน การศึกษาโครงการประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มในแม่น้ำสายหลักพื้นที่ภาคกลาง เร่งขยายผลโครงการพัฒนาน้ำบาดาลในเกษตรแปลงใหญ่ไปทุกพื้นที่ อย่างน้อยหนึ่งอำเภอหนึ่งโครงการในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นต้น อีกทั้งรัฐบาลยังคงผลักดันและเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม และการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ๆ ด้วย
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นเข็มทิศในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งมีเป้าหมายให้ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล รวมทั้งรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายในการพัฒนากลไกและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมด้านน้ำ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ลดการใช้และเพิ่มการหมุนเวียนน้ำในทุกภาคการผลิต รวมทั้งสื่อสารข้อมูลสร้างความตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าต้นน้ำ การกักเก็บน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างหลักประกันการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้เกิดความยั่งยืน ย้ำให้เดินหน้าพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ และสนับสนุนโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และเพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน” นายอนุชา กล่าว