xs
xsm
sm
md
lg

ลุยขุดลอกแม่น้ำ 13 สายภาคเหนือแก้ภัยแล้ง”อธิรัฐ”เผยปี 64-66 แผนดำเนินการ 205 ร่องน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อธิรัฐ" ตรวจคืบหน้าขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำ 13 สายหลักภาคเหนือ เผยปี 64-65 ขุดลอกแล้ว 187 ร่องน้ำ ปี 66 อีก18 ร่องน้ำ เปิดทางน้ำพร้อมเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำฤดูแล้ง

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 17-18 ธ.ค.65 ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำ เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำในฤดูแล้ง พร้อมรับน้ำหลากช่วงฤดูฝน ในพื้นที่ภาคเหนือโดยมี นายภูเมศ สุขม่วง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 นายพงษ์ธร ชำนิกูล ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ นายชัยโรจน์ คงบรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ณ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่


นายอธิรัฐ กล่าวว่า กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำในฤดูแล้ง พร้อมรับน้ำหลากช่วงฤดูฝน ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และนครสวรรค์

โดย มีแม่น้ำหลัก 13 สายที่สำคัญ คือ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำโขง แม่น้ำยวม แม่น้ำปาย แม่น้ำเมย แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำสาละวิน


ซึ่งการดำเนินการในรอบ 3 ปี (2564-2566) มีดังนี้ ในปี2564 ขุดลอกแล้ว จำนวน 63 ร่องน้ำ ปริมาณดินขุด 1,565,686.34 ลบ.ม.

ปี 2565 ขุดลอกแล้ว 124 ร่องน้ำ ปริมาณดินขุด 3,610,859.92 ลบ.ม. โดยมีขุดลอกต่างตอบแทน ปี 65 : ปริมาณวัสดุที่ได้จากการขุดลอกรวม 1,713,561.18 ลบ.ม. สามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้ถึง 68,542,447.2 บาท

และแผนงานปี 2566 จะดำเนินการขุดลอก 18 ร่องน้ำ ปริมาณดินขุด 900,000 ลบ.ม.


นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความคืบหน้าโครงการวิจัยเพื่อออกแบบระบบป้องกันตลิ่งพังโดยประยุกต์ใช้พืชพรรณเพื่อรักษาระบบน้ำอย่างยั่งยืน โดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 ร่วมกับ ภาควิชาครุศาสตร์โยธา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดำเนินการบริเวณแม่น้ำแม่แตง ต.สันมหาพน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการวิจัย หากโครงการฯ แล้วเสร็จ จะสามารถใช้เป็นแนวทางและรูปแบบมาตรฐานเบื้องต้นในการขุดลอกรักษาร่องน้ำ ป้องกันการกัดเซาะพังทลายของตลิ่งโดยใช้พืชพรรณที่เหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่ รักษาระบบทางน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อให้กรมเจ้าท่าหรือหน่วยงานราชการใช้ในการปฏิบัติตามภารกิจได้ต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น