กรมรางสั่ง "เอเชียเอราวัณ" เพิ่มมาตรการตรวจอาวุธผู้ใช้บริการ ล้อมคอก หลังเด็กช่างก่อเหตุรุมทำร้ายร่างกายผู้โดยสารบน "แอร์พอร์ตเรลลิงก์" และให้ทำแผนปรับปรุงระบบเฝ้าระวังภายในขบวนรถ และเปลี่ยนรูปแบบการแจ้งเหตุฉุกเฉินและง่ายและทันเวลา ยกมาตรฐานเทียบรถไฟฟ้าสายอื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 เวลาประมาณ 22.40 น. ได้เกิดเหตุกลุ่มวัยรุ่นทำร้ายร่างกายผู้โดยสาร ได้รับบาดเจ็บ บนตู้แรกของขบวนรถไฟฟ้า Airport Rail Link ที่ Express01 โดยขณะเกิดเหตุขบวนรถอยู่ระหว่างสถานีพญาไทมุ่งหน้าสถานีมักกะสัน โดยพบว่าผู้เสียหายเป็นชายสวมเสื้อยืดแขนสั้นสีดำ กางเกงยีนส์ขาวยาว ได้เดินทางจากที่ทำงานแถวสยามเพื่อกลับบ้านโดยรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้วมาต่อรถไฟฟ้า Airport Rail Link ที่สถานีพญาไท
ภายหลังจากขึ้นนั่งบนขบวนรถไฟฟ้า Airport Rail Link ขบวนรถไฟฟ้าออกจากสถานีพญาไทได้พบกลุ่มวัยรุ่นเดินไปมาตามตู้รถไฟฟ้าต่างๆ จากนั้นได้มีคนมาสอบถามผู้เสียหายว่า “จะไปลงไหน ทำงานที่ไหน” โดยผู้เสียหายตอบว่าทำงานแถวสยามจะไปลงสถานีลาดกระบัง จากนั้นชายวัยรุ่นได้ขอโทรศัพท์มือถือผู้เสียหายไปดู โดยเมื่อขบวนรถไฟฟ้าถึงสถานีราชปรารภ ผู้เสียหายพยายามจะออกจากขบวนรถไฟฟ้า แต่ถูกกลุ่มวัยรุ่นดึงรั้งไว้ ไม่สามารถออกจากขบวนรถได้ ต่อมาเมื่อขบวนรถออกจากสถานีราชปรารภ กลุ่มวัยรุ่นได้รุมทำร้ายร่างกาย จนขบวนรถไฟฟ้าถึงสถานีมักกะสัน
ซึ่งพนักงานควบคุมขบวนรถไฟฟ้าได้ตรวจความเรียบร้อยก่อนปิดประตูขบวนรถ พบว่ามีเหตุผิดปกติ จึงวิทยุแจ้งไปยังศูนย์ควบคุมการเดินรถ ในขณะเดียวกันพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำสถานีมักกะสันได้กดปุ่มหยุดขบวนรถฉุกเฉินที่ชั้นชานชาลา และวิทยุเจ้าหน้าที่ประจำสถานีมักกะสัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ประจำสถานีมักกะสันแจ้งศูนย์ควบคุมการเดินรถและประสานตำรวจรถไฟมายังที่เกิดเหตุ โดยภายหลังจากกลุ่มวัยรุ่นได้ออกจากขบวนรถไฟฟ้าแล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่ประจำสถานีได้พาผู้เสียหายออกจากขบวนรถไฟฟ้าและนำไปปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟพาผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน เพื่อติดตามผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (5 มกราคม 2566) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า Airport Rail Link ได้ลงพื้นที่และหารือแนวทางการป้องกันเหตุดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก โดย ขร.จะเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณามอบหมายให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประสานบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เพิ่มมาตรการดำเนินการ ดังนี้
1. ให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานี/ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เข้มงวดในการตรวจอาวุธ โดยจัดหาเครื่องหรืออุปกรณ์สแกนอาวุธก่อนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า เพื่อเป็นการป้องปรามเหตุ
2. ให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานี/ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เฝ้าระวังผ่านระบบโทรทัศน์วงจรปิดบริเวณสถานีรถไฟฟ้าหรือจุดตรวจก่อนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า และกรณีพบบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าต้องสงสัย ให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดตามขึ้นไปบนขบวนรถไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้ ในระยะเร่งด่วน เห็นควรประสานขอความร่วมมือตำรวจรถไฟมาช่วยดูแลความปลอดภัยที่สถานีและขบวนรถไฟฟ้า เพื่อป้องปรามเหตุ
3. ให้จัดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำสถานีรถไฟฟ้าและบนขบวนรถ เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อจัดการเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที
สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป ขร.ขอให้ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า Airport Rail Link จัดทำแผนในการปรับปรุงขบวนรถไฟฟ้า โดยให้รวมการปรับปรุงระบบเฝ้าระวังภายในขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งเปลี่ยนรูปแบบการติดต่อแจ้งเหตุฉุกเฉินกับพนักงานควบคุมขบวนรถไฟฟ้าจากการใช้คันโยกสำหรับติดต่อ เป็นระบบกดปุ่มแจ้งเหตุแบบสื่อสารสองทิศทาง เพื่อให้สามารถติดต่อได้ง่ายและทันท่วงที ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับขบวนรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่นๆ