“ศักดิ์สยาม” ตั้ง "รองปลัดคมนาคม" สอบข้อเท็จจริงเปลี่ยนป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" 33 ล้านบาท ขีดเส้นสรุปใน 15 วัน สั่งเพิ่มฟีดเดอร์ รองรับย้ายรถไฟทางไกล 52 ขบวน รฟท.จับมือ ขสมก.ขายตั๋วเดือนรถไฟสีแดงเชื่อมรถเมล์
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานโครงการรถไฟสายสีแดง เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการขนส่งทางราง ว่า กรณีการปรับปรุงป้ายชื่อของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวง (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธาน และมีนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นรองประธาน และยังมีผู้แทนจากสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมสถาปนิกสยาม และกรมบัญชีกลาง ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ และให้ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นเลขานุการ โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 15 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้เร่งรัดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน แต่ล่าสุดขยายเป็น 15 วันจึงจะได้ข้อสรุป ขณะที่ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ที่ได้รับสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 33.169 ล้านบาท สัญญาเริ่มวันที่ 3 ม.ค. 2566 ตามระยะเวลาที่สัญญาจ้างกำหนดเป็นจำนวน 150 วัน (5 เดือน) ขณะนี้ยังไม่มีการเริ่มงานแต่อย่างใด
@เร่งเตรียมฟีดเดอร์วิ่งเชื่อม “บางซื่อ” รองรับย้ายรถไฟทางไกล
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้กำหนดปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ สายเหนือ สายใต้ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งหมดจำนวน 52 ขบวน ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดทางรถไฟในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น
สำหรับผู้โดยสารที่มีต้นทาง-ปลายทาง ที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีดอนเมือง สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ขึ้นรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เพื่อเชื่อมต่อสถานีที่รถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ไม่หยุดรับ-ส่ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ส่วนขบวนรถธรรมดา รถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยวทุกสายยังคงให้บริการที่สถานีหัวลำโพงเหมือนเดิม อีกทั้งผู้โดยสารรถไฟชานเมืองที่ใช้ตั๋วโดยสารรายเดือน สามารถนำมาใช้กับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถประจำทางสาย 1-33 (บางเขน-สถานีกลางบางซื่อ) สาย 2-15 (กระทรวงสาธารณสุข-โรงพยาบาลสงฆ์) และสาย 2-17 (วงกลมสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เพื่อเป็นระบบเชื่อมต่อการเดินทางให้แก่ประชาชน
และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่จะมาใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่สถานีรังสิตจึงได้มีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการจัดให้มีระบบขนส่งสาธารณะเสริม (Feeder) เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานด้านระบบขนส่งสาธารณะเสริม (Feeder) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการให้บริการบัตรโดยสารรายเดือนร่วมของรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถโดยสารปรับอากาศ ขสมก.นั้น ปัจจุบัน รฟท.และ ขสมก.ได้จัดทำ MOU ร่วมกันแล้ว โดยคาดว่าจะเปิดขายบัตรโดยสารดังกล่าวได้ภายในเดือนมกราคม 2566
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ รฟท.ตรวจเช็กระบบสาธารณูปโภคภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการให้บริการแก่ประชาชน สำหรับการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ ที่จะให้บริการที่สถานีกลางฯ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป และให้ รฟท. ตรวจสอบความถูกต้องให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องในการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในพื้นที่ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และให้มีช่องทางรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ให้ รฟท. และ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และใช้ Influencer ที่มีผู้ติดตามที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การประชาสัมพันธ์ให้เป็นรูปธรรมต่อไป