ศรีสุวรรณ จรรยา และหมอวรงค์ หัวหน้าพรรคไทยภักดี เตรียมยื่น สตง.ตรวจสอบการรถไฟฯ ลงนามสัญญาจ้าง 33 ล้าน เปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ขณะที่อดีตรองปลัดยุติธรรมชี้ ถ้าคิดจะขอพระราชทานชื่อก็ไม่ควรทำป้ายให้ถาวรแต่แรก จะได้ไม่ต้องเสียเงินสองรอบ
วันนี้ (4 ม.ค.) จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ มูลค่าโครงการ 33,169,726.39 บาท โดยการเปลี่ยนป้ายชื่อจากสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เรียกเสียงวิจารณ์แก่ชาวเน็ตว่าราคาแพงไป และใช้งบประมาณเหมาะสมหรือไม่
ต่อมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สั่งการให้ปลัดกระทรวงคมนาคมดำเนินการตรวจสอบราคากับปริมาณงาน ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทยชี้แจงว่าโครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่การเปลี่ยนป้ายชื่อ แต่ยังรวมถึงการจัดทำระบบไฟ งานรื้อถอน ที่มีความละเอียดอ่อนและต้องปรับปรุงอย่างระมัดระวัง รวมถึงมีการรับประกันความชำรุดบกพร่อง
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวแม้การรถไฟฯ จะออกมาชี้แจงแล้ว แต่ยังฟังไม่ขึ้น ยังไม่เคลียร์ในหลายประเด็น โดยเฉพาะบทบาทของคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ซึ่งมีข้อพิรุธหลายประการ และการกระทำทั้งปวงอาจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 ประกอบ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ปี 2542 จึงจะนำความไปร้องสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบในประเด็นที่การรถไฟฯ และสื่อยังไม่ได้นำเสนอ อันเป็นการชี้ถูกชี้ผิดได้ชัดเจนยิ่ง โดยจะไปร้องในวันพฤหัสบดีที่ 5 ม.ค. 2566 เวลา 10.00 น.
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี กล่าวว่า หลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีการรถไฟฯ เปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในราคาสูงถึง 33 ล้านบาท การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง สิ่งที่กังขาคือ ราคาที่ดำเนินการ รวมทั้งใช้วิธีเฉพาะเจาะจง เท่ากับคิดเฉลี่ยต่อตัวอักษรราคาสูงเกือบ 6 แสนบาทต่อตัวอักษร แม้ล่าสุดการรถไฟฯ ได้ชี้แจงว่าทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง และมีความเร่งด่วน จึงต้องมีการรีบดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด
ถ้าเราใช้สามัญสำนึก กับสิ่งที่การรถไฟฯ ดำเนินการ ดูแล้วไม่ตรงไปตรงมา ทำให้นึกถึงครั้งหนึ่งการรถไฟฯ ก็เคยเปิดประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและอีสาน โดยแบ่งสัญญาเป็น 5 สัญญา สอดรับกับ 5 บริษัท และได้ราคาก็สูง เทียบกับการดำเนินการรถไฟทางคู่สายใต้ที่เปิดให้มีการแข่งขันจำนวนมาก พรรคไทยภักดีจึงได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวเพื่อไปยื่นต่อทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในวันที่ 5 ม.ค. 2566 เวลา 10.30 น. เพื่อตรวจสอบถึงความเร่งรีบ ไม่ชอบมาพากล ตลอดจนเอื้อประโยชน์หรือไม่
ขณะที่เฟซบุ๊ก Tongthong Chandransu ของนายธงทอง จันทรางศุ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โพสต์ข้อความระบุว่า "ถ้าคิดจะขอพระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อใหม่ก็ไม่ควรทำป้ายให้ถาวรแต่แรกมิใช่หรือ จะได้ไม่ต้องเสียเงินสองรอบ" ท่ามกลางชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เช่น
- 33 ล้าน เศรษฐกิจเเบบนี้ ประชาชนจะแย่กัน เเต่คมนาคมไม่สนใจไยดี
- อาจารย์ทำราชการมาขนาดนี้ยังไม่รู้อีกหรือว่าหน่วยราชการไทยมันทำอะไรมันต้องมีขั้นมีตอน แล้วก็มีการใช้งบให้วังเวอร์เข้าไว้ให้สมฐานะ
- เห็นบอกว่าเดี๋ยวส่งงานไม่ได้ ถามว่าตอนนี้สภาพสถานีส่งงานได้แล้วหรือครับ ยับเยินตั้งแต่ยังไม่ได้ใช้
- ผมงงมากๆ ครับ ว่าทำไมไม่คิดอะไรให้รอบคอบ ทำไมต้องจ่ายเงินซ้ำๆ
- การทำงานแบบไทยๆ ครับ ทำงานไม่ต้องวางแผน รับชอบ ไม่รับผิด
- เงินสองรอบก็กินสองรอบค่ะ
- ผมว่าคนทั่วไปก็ยังติดเรียกว่าสถานีบางซื่อนะครับ
- คมนาคมน่าจะคิดทำอะไรให้เป็นแก่นสารมากกว่าเปลี่ยนชื่อ บริการให้มีคุณภาพดีกว่ามั้ย ทุกวันนี้รถไฟยังเข้าหัวลำโพง จราจรติดขัดทุกแยกที่รถไฟวิ่งตัดกับถนน อย่าลืมแผนที่ทุกอย่างต้องเปลี่ยนอีก เช่น รถไฟฟ้า
- การคิดให้รอบคอบเสียทีเดียวตั้งแต่แรกเป็นเรื่องยากครับ ที่จริงคงอยากจะให้ได้คิดกันสักสองสามรอบ จะได้อยู่ทำกินนานๆ
- ทำให้ทราบว่าการทำงานของหน่วยงานไม่ค่อยเป็นระบบเท่าไหร่ค่ะ ทำงานไม่วางแผนใดๆ
- ชื่อมงคลก็ดี แต่ระบบการบริหารจัดการที่ดีน่าจะสำคัญกว่าครับ
- อ้างเหตุความจำเป็นเร่งด่วนเลยต้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งมันควรเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ถ้าไม่ทำแล้วจะไม่สามารถเดินรถได้หรือให้บริการประชาชนได้มากกว่านะครับ