ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมีการเติบโตมากขึ้น จากกระแสรักสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพ จึงเป็นโอกาสที่สินค้าเกษตรแปรรูปและนวัตกรรมประเภทอาหารของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ มีช่องทางในการขยายตลาดมากขึ้น และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (สกน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมการค้าต่างประเทศ ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์โอกาสทางการตลาดสำหรับสินค้าเกษตรนวัตกรรมในตลาดตะวันออกกลาง พบว่าเป็นหนึ่งในสินค้าใหม่ที่มีโอกาสขยายตลาด และมีโอกาสสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการของไทย ในฐานะสินค้าที่บริโภคแล้วเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ
มารู้จักตลาดตะวันออกกลางกันก่อน
สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลาง ประกอบด้วยกลุ่มประเทศต่างๆ ดังนี้ 1. กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน 2. กลุ่มประเทศอาหรับอื่นๆ จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ เลบานอน จอร์แดน ซีเรีย อิรัก และเยเมน และ 3. กลุ่มประเทศที่ไม่ใช่อาหรับ จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน ตุรกี ไซปรัส และอิสราเอล
โดยตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากการผลิตสินค้ายังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ อันด้วยมาจากสภาพภูมิประเทศไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก สภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง ขาดแคลนแหล่งน้ำใต้ดิน ประกอบกับพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตรมีอยู่น้อยมาก ส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งต้องมีการนำเข้าสูงถึงมากกว่าร้อยละ 70 และจากนโยบายการเร่งอัดฉีดเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับการส่งออกของไทยไปยังตะวันออกกลาง
ผู้บริโภคเริ่มนิยมอาหารฮาลาลเพื่อสุขภาพ
ทางด้านพฤติกรรมการบริโภค คาดว่าภูมิภาคตะวันออกกลางจะมีความต้องการอาหารฮาลาลที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น จากกระแสรักสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ส่งผลให้แนวโน้มการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะสินค้าประเภท Functional และ Healthy Products ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้ และมีความต้องการอาหารฮาลาลที่เป็นอาหารแห้งและอาหารกระป๋องเป็นอย่างมาก เนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางมีสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้สินค้าประเภทพืชผัก ผลไม้สด รวมถึงสินค้าอาหารแปรรูปที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ทั่วๆ ไป มีอายุการเก็บรักษา (Shelf Life) ค่อนข้างสั้น จึงเน่าเสียได้ง่าย อาหารกระป๋องซึ่งเก็บรักษาได้นานกว่าจึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
นอกจากนี้ ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่หลากหลายทั้งระดับราคาและรสชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ GCC ซึ่งผู้บริโภคมาจากหลากหลายเชื้อชาติและฐานะ สินค้าและอาหารที่ภูมิภาคตะวันออกกลางต้องการนำเข้าจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะสินค้าที่มีรสชาติถูกปากชาวอาหรับ หรือสินค้าพรีเมียมที่มีราคาแพงแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสินค้าอาหารที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคเชื้อชาติอื่นๆ หรือสินค้าอาหารที่มีราคาอยู่ในระดับกลาง-ต่ำด้วย
สถานการณ์การค้าไทย-ตะวันออกกลาง
ปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับตะวันออกกลาง ในช่วง 10 เดือนปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่าการค้ารวม 1,330,144.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.55% แบ่งเป็นการนำเข้า 1,022,002.49 ล้านบาท และการส่งออก 308,141.98 ล้านบาท โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปตะวันออกกลาง 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2. ข้าว 3. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 4. ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 5. อัญมณีและเครื่องประดับ และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากตะวันออกกลาง 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. น้ำมันดิบ 2. ก๊าซธรรมชาติ 3. น้ำมันสำเร็จรูป 4. ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 5. เคมีภัณฑ์
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดอาหารไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หรือกลุ่ม MENA ซึ่งมี 20 ประเทศสมาชิก (จากนิยามของ World Bank) ได้แก่ อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี อียิปต์ ลิเบีย ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล เยเมน อิหร่าน จอร์แดน กาตาร์ คูเวต เลบานอน ซูดาน โอมาน แอลจีเรีย บาห์เรน โมร็อกโก ตูนิเซีย และซีเรีย โดยมีข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่าไทยมีการส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศ MENA เมื่อปี 2564 มีมูลค่ารวม 52,928 ล้านบาท เพิ่ม 10.5% และช่วง 6 เดือน ปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 42,743 ล้านบาท เพิ่ม 75.4% โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว เพิ่ม 125% ปลากระป๋อง เพิ่ม 45% ผลไม้กระป๋อง เพิ่ม 21% ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี เพิ่ม 31% น้ำตาลทราย เพิ่ม 3154% เครื่องดื่ม เพิ่ม 16% สินค้าประมงอื่นๆ ลด 0.2% ผักกระป๋อง เพิ่ม 14% และสิ่งปรุงรสอาหาร เพิ่ม 24%
เกษตรนวัตกรรมไทยมีจุดแข็ง-มีโอกาส
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปและนวัตกรรมประเภทอาหารของไทย ในการเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลาง เปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลที่สำคัญในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย พบว่าสินค้าไทยมีจุดแข็ง เพราะผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพดีจากสินค้าเกษตรไทยที่มีผลผลิตตลอดทั้งปีและเป็นที่ยอมรับในคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล มีคุณลักษณะพิเศษและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น รสชาติที่ดีถูกปากผู้บริโภค มีความหลากหลายของตัวสินค้า โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่ม Functional และ Healthy Products แต่ก็มีจุดอ่อนคือ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในตะวันออกกลางน้อยกว่าสินค้าของคู่แข่งอย่างประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะเป็นประเทศมุสลิม
สำหรับโอกาส พบว่าสภาพภูมิอากาศในตะวันออกกลางมีความแห้งแล้ง ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก จึงส่งผลต่อปัจจัยเรื่องความมั่นคงทางอาหารต่ำของประเทศมุสลิม โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศในบริเวณนี้ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชและการทำปศุสัตว์ จึงต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังพบแนวโน้มการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในกลุ่มคนที่มีรายได้สูงในตะวันออกกลางมีการเติบโตมากขึ้นจากกระแสรักสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นโอกาสที่สินค้าเกษตรแปรรูปและนวัตกรรมประเภทอาหารของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพจะได้รับความนิยมมากขึ้น
สิ่งที่ต้องระวังในการเจาะตลาด
อย่างไรก็ตาม ในการเจาะตลาดตะวันออกกลางมีสิ่งที่จะต้องระวัง คือ ความเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่จะนำเข้าไปจำหน่ายยังตลาดตะวันออกกลาง เนื่องจากจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างรัดกุมตามข้อกำหนดของหลักศาสนาจากทั้งภายในประเทศไทยเอง และประเทศมุสลิมคู่ค้าเสียก่อน หลังจากได้รับการรับรองว่ามุสลิมสามารถบริโภคได้จึงจะได้รับอนุญาตจากองค์กรมุสลิมที่ดูแลเรื่องเครื่องหมายฮาลาลอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายฮาลาลบนฉลากสินค้าได้
ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวมีการตรวจสอบอย่างละเอียด หากมีการปะปนของสิ่งต้องห้าม หรือมาตรฐานการผลิตไม่เป็นไปตามหลักศาสนา สินค้าจะถูกกักกันและห้ามนำเข้าทันที
แนะใช้จุดแข็งผู้ผลิตอาหาร+ตราฮาลาล
นายรณรงค์กล่าวว่า จากการวิเคราะห์โอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและนวัตกรรมประเภทอาหารของไทยในตลาดตะวันออก พบว่าตลาดการค้าสินค้าอาหารในกลุ่มประเทศ MENA นับว่าเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจในด้านการค้า การลงทุน เนื่องจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ตลาดอาหารเติบโตได้มากที่สำคัญ ได้แก่ 1. แนวโน้มผู้บริโภคที่เปิดรับอาหารต่างชาติมากยิ่งขึ้น 2. เป็นตลาดที่มีอำนาจซื้อสูง 3. ช่องทางการกระจายสินค้าที่เพิ่มจำนวนอย่างมาก 4. ความหลากหลายของเชื้อชาติในภูมิภาคนี้ 5. การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์การนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยมีประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำ ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นศูนย์กลางการส่งออกต่อ (Re-Export) ไปยังประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง และแอฟริกา และประเทศอาหรับอื่นๆ 6. ภาครัฐบาลให้ความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในภูมิภาคโดยการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น 7. กฎระเบียบ มาตรฐานอาหารในบางประเทศไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ
“การที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญของโลกที่มีจุดแข็งด้านความชำนาญการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารที่หลากหลาย และผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อตราเครื่องหมายอาหารฮาลาลมากขึ้น จึงเปรียบเสมือนเป็น Passport และใบเบิกทางในการเข้าสู่ตะวันออกกลาง เนื่องจากกว่า 60% ของประชากรในกลุ่มประเทศ MENA เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม การมีตราเครื่องหมายอาหารฮาลาลจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มให้แก่คนมุสลิมในกลุ่ม MENA ได้เพิ่มขึ้นอีกถึง 240 ล้านคน” นายรณรงค์กล่าว
คาดปี 73 มูลค่าตลาดพุ่งถึง 1 ล้านล้านเหรียญ
ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าในปี 2573 มูลค่าตลาดอาหารในภูมิภาคนี้จะขยายตัวสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจและการเมือง หรือ the Economist Intelligence Unit (EIU) ได้คาดการณ์อีกว่าการนำเข้าสินค้าอาหารผ่านเข้าสู่กลุ่มประเทศ GCC ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่สาม จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 53,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดอาหารในกลุ่มประเทศ MENA มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และมีโอกาสพัฒนาเป็นศูนย์กลางการนำเข้าและส่งออกอาหาร (Re-Exporter of Food) ได้แก่ ระบบเครือข่ายขนส่งอาหารที่มีศักยภาพ (Significant link in the region’s food chain) อีกทั้งยังมีโครงข่ายโลจิสติกส์ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ การคมนาคมทั้งทางบก เรือ อากาศ โดยมีประเทศซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ ในขณะที่แอฟริกาเหนือ
มีการเติบโตทางด้านการค้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยมีประเทศอียิปต์ โมร็อกโก และแอลจีเรีย เป็นผู้นำในภูมิภาคนี้
ชี้โอกาสและช่องทางทำเงิน
นายรณรงค์กล่าวว่า กลยุทธ์ในการบุกตลาดตะวันออกกลาง ผู้ส่งออกอาหารฮาลาลไทย หากต้องการจะขยายโอกาสทางการค้าในตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งมีชาวมุสลิมอยู่หนาแน่นและมีกำลังซื้อสูง จำเป็นต้องศึกษามาตรฐานฮาลาลซึ่งมีทั้งสิ้นประมาณ 50 มาตรฐาน จาก 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีหน่วยงานสำคัญๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อวางมาตรฐานฮาลาลให้เป็นสากลและยอมรับ เช่น Organization of the Islamic Conference (OIC) มีสมาชิก 57 ประเทศ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหนึ่งในสมาชิกของ OIC องค์การ Food and Agriculture Organization (FAO) กำหนดมาตรฐานสากลของอาหารฮาลาล โดย Codex Alimentations Commission สำหรับแนะนำในการใช้คำ ฮาลาล (Halal) บนฉลากอาหาร และ Codex ได้จัดทำ General Guidelines for use of the term HALAL ตั้งแต่ปี 2540 เพื่อให้ประเทศต่างๆ มีความเข้าใจตรงกันและมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ทั้งทางด้านแหล่งที่มาของอาหาร วิธีการฆ่าสัตว์ การเตรียมอาหาร การแปรรูปอาหาร การบรรจุหีบห่อ การขนส่งและการเก็บรักษาอาหาร
อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการค้ากับประเทศมุสลิม ประเทศในกลุ่ม GCC ได้แก่ ประเทศซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน บาห์เรน และกาตาร์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีอำนาจการซื้อสูง ใช้กฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าร่วมกัน (Gulf Standard) โดยร่วมกันตั้งสำนักงานมาตรฐานและชั่ง ตวง วัด เรียกว่า Standardization & Metrology Organization for G.C.C.-GSMO มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ทำหน้าที่ออกกฎระเบียบ กำกับดูแล และเผยแพร่มาตรฐานสินค้าของประเทศในกลุ่ม GCC ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น การมีตราเครื่องหมายอาหารฮาลาลจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มให้แก่คนมุสลิมในตลาดตะวันออกกลางได้เพิ่มมากขึ้น
ส่วนปัจจัยสู่ความสำเร็จในการเจาะตลาดตะวันออกกลาง คือ ช่องทางการจัดจำหน่าย พันธมิตรทางธุรกิจ และการจัดวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม โดยสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์คือประตูด่านแรกที่น่าสนใจในการเจาะตลาดตะวันออกกลาง โดยเฉพาะดูไบ ซึ่งจัดเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญและเป็นจุดพักสินค้าก่อนจะกระจายต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในแถบตะวันออกกลาง รวมไปถึงทวีปแอฟริกาเหนือและยุโรปตะวันออก
นอกจากนี้ การวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ควรวางตำแหน่งสินค้าในระดับพรีเมียม เพื่อหลีกหนีการแข่งขันด้านราคา (Price War) โดยควรเน้นสินค้าที่มีคุณภาพสูง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจและพิถีพิถันในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ามากกว่าปัจจัยด้านราคา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรเริ่มต้นมองหาโอกาสทางธุรกิจ โดยการร่วมชมงาน หรือสมัครเข้าร่วม Gulfood Exhibition Fair ผ่านกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนก.พ.ของทุกปี
ในปี 2566 สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (สกน.) ได้วางแผนเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าในงานแสดงสินค้านานาชาติ Gulfood 2023 ระหว่างวันที่ 20-24 ก.พ. 2566 ณ นครดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติที่มีชื่อเสียงและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 28 ซึ่งการนำสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเข้าร่วมงาน จะเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเพิ่มการตระหนักรู้สินค้านวัตกรรมจากข้าว สินค้าเกษตรแปรรูปและนวัตกรรมประเภทอาหารไทยสู่ตลาดโลกได้ไม่ยาก