xs
xsm
sm
md
lg

Thai PBS ชู “ดิจิทัลเฟิร์สท” สื่อยิ่งพัฒนาไปไกล ความไม่ปลอดภัยยิ่งใกล้ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในสังคมยุคดิจิทัลที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อการเลือกรับชมเนื้อหารายการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ ๆ ที่หลากหลายขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือหนึ่งในตัวเร่งสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงนี้
แต่นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจ คือ พฤติกรรมการรับชมสื่อของประชากรกลุ่มใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของไทยในไม่ช้า อย่างกลุ่ม Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลเต็มตัว ในขณะเดียวกัน กลุ่ม Baby Boomer หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่เปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อติดต่อสื่อสารกับครอบครัว และรับข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงต่าง ๆ มากขึ้นอีกด้วย ทำให้สื่อจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตัวเอง และแข่งขันกันดึงดูดผู้บริโภคให้สนใจเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของตนเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้


ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันของสื่อในยุคดิจิทัล “ไทยพีบีเอส” สื่อสาธารณะที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับอย่างเท่าเทียม ยังคงเดินหน้าพัฒนาและยกระดับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้พัฒนาฟังก์ชันบริการ รวมถึงออกแบบการแสดงผลเพื่อการใช้งานที่ง่ายขึ้น และจัดโครงสร้างผังเว็บไซต์ไทยพีบีเอสใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Thai PBS NOW คลิกทุกวัน ทันทุกเหตุการณ์” รองรับการเข้าถึงและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับสื่อของผู้ใช้งานที่มีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานทุกกลุ่มเข้าถึงบริการบนเว็บไซต์อย่างเท่าเทียม รวมถึงการเชื่อมโยง 10 หมวดเนื้อหาจากเว็บไซต์คุณภาพในเครือไทยพีบีเอสมายังเว็บไซต์หลัก เป็นคอนเทนต์ฮับสำหรับผู้ใช้บริการที่สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างครอบคลุม

*** โฉมใหม่ของเว็บไซต์ไทยพีบีเอส

พลิกโฉมการครีเอทจาก “ทีวีเฟิร์ส” สู่ “ดิจิทัลเฟิร์ส”
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ “ไทยพีบีเอส” (Thai PBS) แชร์มุมมองเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 ว่า มีการเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z จะไม่กลับมารับชมสาระและความบันเทิงผ่านโทรทัศน์หรือทีวีแล้วอย่างแน่นอน ประกอบกับในปัจจุบันมีช่องทางให้เลือกรับชมที่หลากหลาย ตลอดจนถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ซึ่งการอยู่บ้านมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่า ผู้บริโภคจะรับชมสาระและความบันเทิงต่าง ๆ ผ่านทีวี แต่อาจจะเป็นการรับชมจากหลากหลายแพลตฟอร์มไปพร้อม ๆ กัน

ดังนั้น ต้องเข้าใจพฤติกรรมดังกล่าวว่าผู้บริโภคอาจไม่ได้เปิดทีวีเพื่อที่จะรับชมรายการนั้น ๆ แต่อาจจะเปิดเพื่อเป็นเพื่อน แล้วรับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต

“การออกแบบสื่อต่อจากนี้ไป คงไม่ได้มองว่าต้องเป็นทีวีเฟิร์สหรือนำไปออกอากาศทางทีวีก่อน แล้วค่อยนำไปออกสื่อออนไลน์อื่น ๆ แต่ต้องมองเป็นดิจิทัลเฟิร์ส ซึ่งเราพยายามฝังชิปวิธีคิดนี้ไปที่คนในองค์กรไทยพีบีเอสว่า ต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่ไม่ใช่ทีวีเฟิร์ส แต่ต้องเป็นดิจิทัลเฟิร์ส หมายความว่า จะเล่าเรื่องแบบไหนที่ผู้บริโภคสามารถรับชมผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลทุกประเภท หรือในข่าวหนึ่งชิ้นอาจจะส่งทีเดียว 3 แบบเพื่อนำเสนอผ่านอุปกรณ์ต่างประเภทกันได้ โดยที่ไม่ต้องรอว่าจะต้องออกหน้าจอก่อนแล้วค่อยตัดมาลงออนไลน์ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แรงพอสมควร แต่เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนทันที โดยมีโควิดเป็นตัวเร่ง ซึ่งเว็บไซต์ไทยพีบีเอสก็ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์มที่ดีและมีคุณภาพสำหรับคนทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น”


*** ไทยพีบีเอส ตอกย้ำจุดยืน “สื่อสาธารณะ” สำหรับทุกคน
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนเว็บไซต์ไทยพีบีเอส รวมทั้งสื่อออนไลน์ทุกประเภทของไทยพีบีเอส ดำเนินการภายใต้หลักของการเป็นสื่อสาธารณะ ด้วยการเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน (User Friendly) การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล
โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z และต้องเป็นพื้นที่สำหรับทุกเจเนอเรชัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีและฟังก์ชันการใช้งานที่สะดวกสบาย ตลอดจนเป็นประตูทางเชื่อม (Single Gateway) พอร์ตโฟลิโอของไทยพีบีเอส โดยเชื่อมโยงคอนเทนต์คุณภาพจาก 10 เว็บไซต์ย่อยในเครือไทยพีบีเอส มารวมไว้บนเว็บไซต์ไทยพีบีเอสแบบครบ จบในที่เดียว รวมถึงจัดหน้าเว็บไซต์ตามกลุ่มประเด็นเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความเป็นเฉพาะบุคคล (Personalized) มากขึ้น

ไทยพีบีเอส ยังคงยึดหลักการให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะหน้าจอทีวีแบบเดิมหรือแบบแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยจุดแข็งที่เป็นอัตลักษณ์ของไทยพีบีเอสคือ ความเป็นสื่อที่เชื่อถือได้ เนื้อหาถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย และรอบด้าน นอกจากนี้ยังคำนึงถึงเนื้อหาที่เป็นเรื่องของชุมชน ท้องถิ่น ภาคประชาสังคมต่าง ๆ และมุมมองของคนหลากหลายกลุ่ม

โดยเชื่อว่าหลักการของสื่อสาธารณะคือ การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้รับฟังซึ่งกันและกัน ใช้ปัญญาร่วมกันในการมองสถานการณ์สังคม ไม่ได้ไปทางใดทางหนึ่ง หรือไม่ทำให้ทุกคนอยู่ในสถานการณ์ที่คนจะได้ยินได้ฟังแต่ความคิดเห็นแบบเดียวกัน การปิดกั้นข้อมูลที่แตกต่าง และรับฟังแต่เรื่องเดิม ๆ จนหลงเชื่อว่าเป็นความคิดของคนส่วนใหญ่
แต่ไทยพีบีเอสจะเป็นพื้นที่ที่กระตุ้นให้คนได้เปิดใจรับฟังกันอย่างมีเหตุมีผล และไม่ใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ในสังคม รวมถึงพื้นที่ออนไลน์ของไทยพีบีเอสต้องทำให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างเหมาะสมและเป็นการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive)


*** ยึดหลัก “จริยธรรม” กลไกกำกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร
ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและทิศทางสื่อออนไลน์ รศ.ดร.วิลาสินี บอกเล่าถึงจุดยืนของไทยพีบีเอสว่า การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของไทยพีบีเอสมีความแข็งแรงอยู่แล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใดก็ตาม ไทยพีบีเอสยึดหลักจริยธรรมเป็นตัวกำกับที่แข็งแรง ระมัดระวังการนำเสนอประเด็นที่อ่อนไหว การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอยู่ตลอดเวลา และอยู่ระหว่างการพัฒนากลไก Fact-Checking ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสาร โดยคาดว่าไตรมาสแรกปี 2566 ไทยพีบีเอสจะร่วมเป็นพันธมิตรเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างประเทศ (IFCN) ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานของไทยพีบีเอสอีกด้วย

“การมุ่งสู่ Digital Transformation ไทยพีบีเอสต้องทำให้สื่อออนไลน์สร้าง Engagement กับผู้ชมหรือผู้ใช้สื่อให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น Gen Z, Gen Y หรือแม้แต่กลุ่มผู้สูงอายุที่เข้ามาใช้สื่อออนไลน์ เราต้องปรับตัว ต้องเรียนรู้พฤติกรรมและความสนใจของคนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเราพยายามพัฒนาระบบ Data เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมแบบเรียลไทม์ของคนไทย และมีข้อมูลที่เป็นอินไซด์ จากงานวิจัย ติดตาม ระบบจัดเก็บข้อมูลหลังบ้านในเว็บไซต์ไทยพีบีเอสว่าผู้ที่เข้ามารับชมหรือใช้สื่อมีพฤติกรรมอย่างไร ซึ่งจะทำให้เราสามารถออกแบบสื่อที่สร้าง Engagement กับคนกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ จุดต่างของไทยพีบีเอส โดยเฉพาะความเป็นสื่อออนไลน์คือ เราพยายามที่จะเปิดพื้นที่ให้เนื้อหาที่เป็นชุมชนและพลเมืองได้เข้ามาสื่อสาร มาระดมสมองแก้ไขปัญหาใหญ่ ๆ ในสังคมร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การช่วยกันระดมปัญญาในสังคม คิดว่านี่คือจุดใหญ่ของพื้นที่ออนไลน์ในแบบฉบับไทยพีบีเอสที่แข่งขันเพื่อสร้างสติปัญญาและความเข้มแข็งให้กับภาคพลเมืองของสังคมไทย มากกว่าการเรียกเรทติ้งซึ่งไม่ใช่แนวทางหลักของสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส


*** เพิ่มบทบาทเสริมทักษะรู้เท่าทันสื่อ ยกระดับสตรีมมิงสัญชาติไทย
สำหรับในประเด็นเรื่องทิศทางภูมิทัศน์สื่อ (Media Landscape) ในอนาคต รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า สื่อทีวีจะยังไม่ล้มหายตายจาก โดยเฉพาะสังคมไทยที่ยังคงมีผู้รับชมสาระและความบันเทิงผ่านทีวี แต่สื่อทีวีต้องปรับบทบาทจากการเป็นแพลตฟอร์มแบบคอนเทนต์ทั่วไป มาเป็นการสร้างคอนเทนต์ที่มีความเฉพาะและมีความพิเศษมากขึ้น จะเกิดการเรียนรู้ข้ามสื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกวันนี้คนทำสื่อดั้งเดิม เช่น สื่อทีวีได้เรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ จากสื่อออนไลน์อยู่ไม่น้อย เช่น การทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง

โดยภาพรวมแล้วคาดว่าสื่อที่ผลิตคอนเทนต์ต้องมุ่งหาตลาดระดับโลกมากขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือ การได้ไปอยู่บน Netflix หรือสตรีมมิงระดับโลกรายใหญ่ ๆ ซึ่งไทยพีบีเอสพร้อมที่จะจับมือผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีสตรีมมิงที่เป็นแพลตฟอร์มระดับชาติ และสร้างความเข้มแข็งให้สตรีมมิงสัญชาติไทย

“ยิ่งสื่อออนไลน์พัฒนาไปมากเท่าไร ความไม่ปลอดภัยของการใช้สื่อก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ไทยพีบีเอสในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะของประชาชน จึงไม่ได้เป็นแค่คอนเทนต์หรือแพลตฟอร์ม แต่ต้องทำหน้าที่เป็นสถาบันที่ช่วยสร้างทักษะให้คนในสังคมรู้เท่าทันสื่อและร่วมกับตรวจสอบที่ข้อมูลข่าวสารไม่เป็นจริง (Fake News) สร้างความเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ซึ่งจริง ๆ เราทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา เรามองตัวเองเป็นผู้ผลิตและสร้างสรรค์งานสื่อ น้ำหนักงานจึงอยู่ที่การเป็นผู้ผลิตค่อนข้างเยอะ”


พร้อมย้ำด้วยว่า “ต่อจากนี้ไปทิศทางของไทยพีบีเอสจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่ช่วยสร้างความแข็งแรงและยกระดับผู้ใช้สื่อ และยังมุ่งมั่นจะเป็นยิ่งกว่าการมีแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เปลี่ยนตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตแบบเต็มร้อย เป็นผู้ที่สนับสนุนการทำงานกับผู้อื่น และที่สำคัญกว่านั้นคือ การมุ่งสู่คอนเทนต์โพรไวเดอร์ฮับของประเทศไทยที่พร้อมให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกับผู้สร้างคอนเทนต์ดี ๆ” ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส กล่าว

ภูมิทัศน์สื่อในโลกยุคดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับ “ไทยพีบีเอส” ในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะของประชาชนยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อตอกย้ำเป้าหมายการเติมเต็มช่องว่างให้ครอบคลุมผู้ชมทุกกลุ่ม ด้วยการนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้อง พร้อมเป็นพื้นที่ในการนำเสนอเนื้อหาที่จะเป็นทางออกของสังคมร่วมกันและขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น