สกสว.ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ บพท. และ ThaiPBS จัด Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย เพื่อสำรวจภูมิทัศน์ความยากจน หนี้ และโมเดลการแก้ปัญหา พร้อมระดมข้อมูลจากงานวิจัยและประสบการณ์จริงของผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับผู้ประสบปัญหาความยากจนและหนี้ สู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย และ โมเดลการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและความยากจน อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ThaiPBS จัด Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย เพื่อระดมข้อมูลจากงานวิจัยและประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 ท่าน ผ่าน 5 ช่วงการสนทนา ที่จะนำไปสู่การถอดบทเรียนการแก้หนี้และแก้จน รวมถึงการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและความยากจน ตลอดจนถ่ายทอดและสื่อสารประเด็นเหล่านี้สู่สาธารณะ ให้เกิดความเข้าใจและความตระหนักถึงปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในปัจจุบัน
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงที่มาของงาน Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทยว่า รัฐบาล และ หลายหน่วยงานต่างตระหนักถึงวิกฤติหนี้ครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น เป็น 14.58 ล้านล้านบาทในปี 2564 และประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก โดย สกสว. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สกสว. ได้มีการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปัจจุบันได้มีการจัดทำ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งมีแผนงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหนี้สิน ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ คือ แผนงาน P11 ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่มโอกาส และยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ แผนงานนี้ตั้งเป้าจะขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการลดช่องว่างของการเข้าถึงโอกาสด้านการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ และเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจของเศรษฐกิจฐานรากภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งยังต้องการข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนและความยากจน จากการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน อันนำไปสู่นโยบายแก้หนี้และแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้าน ดร.ปิติ ดิษยทัต สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเทียบกับในอดีตหรือเทียบกับต่างประเทศ ข้อสรุปจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า คนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย เป็นหนี้จำนวนมากและนานขึ้น แม้แต่วัยเกษียณอายุก็ยังมีหนี้สูง ซึ่งสะท้อนถึงภาวะความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทย และนำไปสู่ปัญหาในการดำรงชีวิตและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจริงจังกับการแก้ปัญหา โดยความร่วมมือขององค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนานโยบาย เครื่องมือ และกลไกลการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวถึงสถานการณ์ความยากจนในพื้นที่ว่า ภาวะการเป็นหนี้กับภาวะความยากจนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน คนที่ต่ำสุดของพื้นที่ภาวะความจนต่าง ๆ หรือ ความจนซ้ำซาก ความจนข้ามรุ่น แม้แต่ปัจจัยสี่ ที่นำมาใช้ประทังชีวิตในแต่ละวันยังไม่มี บางครั้งบางเหตุการณ์กลายเป็นความเกลียดชัง การแลกเปลี่ยนร่วมกันในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดี ที่จะได้ช่วยกันเสนอถึงทางออก และแนวนโยบายของประเทศว่าจะไปในทิศทางใด จึงจะช่วยให้ประชาชนก้าวข้ามผ่านวาทกรรมความเกลียดชัง วาทกรรมที่บอกว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นต้นเรื่อง ใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สิน ทั้งที่ เรื่องวัฏจักรความยากจน และหนี้ครัวเรือนนั้น เกิดได้หลายสาเหตุมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของเขาเอง ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะประเทศที่เปิดกลไกตลาดเสรีอย่างประเทศไทย เพราะฉะนั้นแล้วแนวทางที่จะช่วยประชาชนได้อย่างดียิ่ง คือ การสร้างความตระหนักรู้ของพื้นที่
รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวในฐานะสื่อสาธารณะ ระบุว่า ไทยพีบีเอส มีความพยายามที่จะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน และ ความเหลื่อมล้ำ ให้สังคมตระหนักถึงปัญหาและทำความเข้าใจต่อปัญหาดังกล่าว โดยการทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางที่ช่วยดึงเอาความรู้ที่มีอยู่ ว่าทำอย่างไรประชาชนจึงจะหลุดออกจากกับดักเหล่านี้ เช่น ในเพจ The Active ของไทยพีบีเอส ที่ได้นำเสนอชุดข้อมูลเรื่องกับดักหนี้สิน พูดเรื่องปัญหาที่มาของหนี้สินรายภาค รายจังหวัด รวมถึงการเข้าถึงแหล่งรายได้ เงินช่วยเหลือต่อหัว และอื่น ๆ ซึ่งสามารถสะท้อนช่องว่างของปัญหาได้อย่างดียิ่ง
อย่างไรก็ดี นอกจากการจัดงานในครั้งนี้ ทั้ง 4 องค์กร ยังมีแผนการทำงานร่วมกัน ภายใต้วาระใหญ่ของปี 66 คือ วาระเรื่องของลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม เพราะว่าเรื่องของนโยบายเรื่องการแก้หนี้แก้จนนั้น จะต้องมีการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง เพราะเสียงที่ดังขึ้น กรณีศึกษาและองค์ความรู้ที่มากขึ้น รวมถึงการทำงานร่วมกันกับภาคีอื่น ๆ ที่มากขึ้น อาจจะเป็นเส้นทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้