xs
xsm
sm
md
lg

จับตาปี 66 ตลาดน้ำมันแข่งเดือด OR-BCP เตรียมพร้อมรับมือ ‘คาลเท็กซ์’ ภายใต้ปีก SPRC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเชฟรอนประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจในไทยครั้งใหญ่ ส่งบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในเครือฯ เข้าซื้อธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรวมถึงสถานีบริการน้ำมันภายใต้แบรนด์คาลเท็กซ์ ของ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ในประเทศไทยด้วยมูลค่าราว 155.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 5,562.5 ล้านบาท ดีลนี้คาดว่าจะดำเนินการซื้อหุ้นแล้วเสร็จในกลางปี 2567

สำหรับมูลค่าธุรกรรมดังกล่าวสูงถึงกว่า 5.56 พันล้านบาท ประกอบด้วย ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมภายใต้แบรนด์คาลเท็กซ์ รวมทั้งสัดส่วนการถือหุ้น 9.91% ในบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) และสัดส่วนการถือหุ้น 2.51% ในบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) ที่ดินจำนวน 19 แปลงที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลาและจังหวัดสุราษฎร์ธานี กับมูลค่าของเงินทุนหมุนเวียนสุทธิตามจริงของธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จะดำเนินการในวันที่ทำธุรกรรมซื้อหุ้นเสร็จสิ้น (Closing Date)

นายโรเบิร์ต โดบริค กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) กล่าวว่า การตัดสินใจเข้าซื้อธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของคาลเท็กซ์ในครั้งนี้ทำให้ SPRC ครอบครองและรักษาฐานลูกค้าปลายทางของธุรกิจโรงกลั่น ซึ่งบริษัทเชฟรอน (ไทย) ถือเป็นลูกค้าที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 43.2 ของรายได้รวม อีกทั้งยังเป็นการขยายธุรกิจในแนวดิ่ง ลดการพึ่งพารายได้จากลูกค้าที่เป็นกลุ่มบริษัทเชฟรอน รวมทั้งยังช่วยสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในการขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ฯลฯ กล่าวได้ว่าเราได้ประโยชน์จากการรวมธุรกิจโรงกลั่น ธุรกิจการตลาด ทำให้การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวเข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน พ.ศ. 2546 เนื่องจาก SPRC เข้าซื้อสินทรัพย์จาก Chevron Asia Pacific Holdings Limited (CAPHL) ซึ่งถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทางอ้อมของบริษัทฯ และ CT Nominee Holdings (I) LLC (“CTN1”) และ  CT Nominee Holdings (II) LLC (“CTN2”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Chevron Corporation(“Chevron”) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทางอ้อมของบริษัทผ่านการถือหุ้นร้อยละ 100 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดใน CAPHL โดยที่ Chevron ถือหุ้นใน CTN1 และ CTN2 มากกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมด ดังนั้น ดีลดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนโดยไม่นับคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย ซึ่งกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 31 มกราคม 2566 คาดว่าธุรกรรมการลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2567

ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์รวมทั้งสิ้น 427 แห่งในประเทศไทย ประกอบด้วย สถานีบริการน้ำมันจำนวน 403 แห่งที่ดำเนินงานในรูปแบบผู้ค้าปลีกเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการ (retailer-owned and retailer-operated หรือ RORO) และสถานีบริการน้ำมันจำนวน 24 แห่ง ที่ดำเนินการในรูปแบบบริษัทเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินงานโดยผู้ค้าปลีก (company-owned and retailer-operated หรือ CORO)

การปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มเชฟรอนในประเทศไทยครั้งนี้ แหล่งข่าววงการน้ำมันกล่าวให้ความเห็นว่า SPRC เข้าซื้อหุ้นธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแบรนด์คาลเท็กซ์ครั้งนี้มองว่าทางเชฟรอนต้องการนำเงินกลับบ้าน เนื่องจากธุรกิจตลาดน้ำมันในไทยคาลเท็กซ์มีส่วนแบ่งการตลาดไม่สูงมากเมื่อเทียบจากอดีต และมีมาร์เกตแชร์น้อยกว่าแบรนด์บริษัทน้ำมันต่างชาติอย่างเอสโซ่ และเชลล์ค่อนข้างมาก

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจของคาลเท็กซ์ภายใต้การกุมบังเหียนของ SPRC ในอนาคต คาดการณ์ว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างจากเดิมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก เนื่องจาก SPRC รับโอนธุรกิจของคาลเท็กซ์ รวมทั้งทีมบริหารงานเดิม หากบริษัทฯ มีแผนจะขยายสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์เพิ่มเติม ก็ต้องเลือกทำเล และขนาดของสถานีบริการน้ำมัน ถ้าเน้นขยายสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ก็ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ราว 100 ล้านบาท/แห่ง และต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะแข่งสู้กับ PTT Station แต่หากหันไปขยายสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็กก็ต้องชนกับค่ายน้ำมันไทยอีกรายหนึ่งที่มีจำนวนปั๊มมากที่สุดในขณะนี้ เชื่อว่าการตัดสินใจของ SPRC ล้วนต้องคำนึงถึงผลตอบแทนการลงทุนที่ดีที่สุด


ยอมรับว่าธุรกิจค้าปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการในปัจจุบันแตกต่างไปจากอดีต นับวันมาร์จิ้นในการจำหน่ายน้ำมันผ่านปั๊มแคบมาก เนื่องจากมีบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเชั่น จำกัด (มหาชน)(BCP) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันสัญชาติไทยที่มีส่วนแบ่งการตลาดรายใหญ่เบอร์ 1 และ 2 ของไทย ทำหน้าที่คุมราคาไม่ให้กำไรจากการขายน้ำมันผ่านปั๊มสูงเกินไปโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง ช่วยชะลอการขยับขึ้นราคาขายน้ำมันเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากจนเกินไป ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันแทบทุกผลิตภัณฑ์จึงต่ำกว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันของค่ายต่างชาติ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมช่วงนี้ส่วนแบ่งการตลาด PTT Station และบางจากจึงขยับเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ค่ายน้ำมันต่างชาติกลับมีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันหดตัวลง

นอกจากนี้ การทำตลาดค้าปลีกน้ำมัน แต่ละค่ายพยายามสร้างจุดต่างเพื่อฉีกหนีคู่แข่ง และเพิ่มความหลากหลายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (นอนออยล์) หรือธุรกิจเสริมที่มีมาร์จิ้นสูงกว่าการขายน้ำมันมาก ทำให้มีการดึงร้านค้าต่างๆ ที่เคยอยู่ในห้างสรรพสินค้ามาเปิดสาขาในปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากร้านค้าเหล่านี้กระจายความเสี่ยงจากเดิมที่เคยได้รับผลกระทบโควิด-19 ที่มีการปิดร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ดังนั้นเราจึงเห็นร้านค้าต่างๆ เปิดสาขาในปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้น สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธ์นี้เราจะเห็นได้จากจำนวนสถานีบริการน้ำมันใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามเส้นทางหลักในเมืองใหญ่ของหลายค่ายน้ำมัน ซึ่งคาลเท็กซ์เองก็ได้มีการขยายธุรกิจนอนออยล์เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแต่ไม่มากและหลากหลายเหมือนคู่แข่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการขยายธุรกิจเสริมให้ครอบคลุม และหากต้องการบุกตลาดในธุรกิจนี้จำเป็นต้องเร่งสร้างจุดขายที่แตกต่างฉีกหนีคู่แข่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทีมบริหารต้องวางกลยุทธ์และเร่งลงมือก่อนจะถูกคู่แข่งทิ้งห่างมากไปกว่านี้ และเมื่อคาลเท็กซ์มาเป็นธุรกิจหนึ่งของ SPRC น่าจะเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น


OR กางแผนลงทุน 5 ปี 1.01 แสนล้าน รักษาแชมป์ผู้นำตลาด

บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เพิ่งคลอดแผนการลงทุน 5 ปีนี้ (2566-70) ตั้งงบลงทุนไว้ถึง 101,486.8 ล้านบาท เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในประเทศไทยในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (Oil Ecosystem) รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายระบบจัดเก็บ และการกระจายผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเข้มแข็งกับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ (Seamless Mobility) ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และมุ่งเน้นสู่การใช้พลังงานสะอาดผ่านการลงทุนขยายเครือข่ายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า “EV Station PluZ” ทั้งในและนอกสถานีบริการ PTT Station อีกทั้งมุ่งหวังเพิ่มความแข็งแกร่งในธุรกิจ Café Amazon ตลอด Value chain รวมถึงการเติบโตไปพร้อมกับเหล่าพันธมิตรเพื่อตอบโจทย์ All Lifestyles ภายใต้วิสัยทัศน์ “Empowering All Toward Inclusive Growth หรือ เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” กล่าวได้ว่าเป็นสถานีบริการที่มีความหลากหลายครบครัน (One Stop Service) ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครบทุกด้าน

นอกจากนี้ ยังแสวงหาการเติบโตในต่างประเทศผ่านการขยายเครือข่าย โดยร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ (Asset-Light Growth) ในตลาดใหม่ และยังแสวงหาธุรกิจใหม่ (OR new S-curve) เพื่อสนับสนุนต่อยอดในธุรกิจปัจจุบันสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนโดยอาศัยจุดแข็งของ OR เช่น เครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน เครือข่ายร้านค้าต่างๆ (Physical Platform) ควบคู่ กับ Digital Platform ร่วมกับพันธมิตรเพื่อส่งต่อโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการทุกขนาดได้เติบโตไปพร้อมกับ OR

แผนการลงทุน 5 ปีนี้ราวแสนล้านบาท แบ่งการลงทุนตามกลุ่มธุรกิจหลักดังนี้ คือ ธุรกิจ Mobility 31,355.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30.9% ธุรกิจ Lifestyle จำนวน 33,861.7 ล้านบาท คิดเป็น 33.3% ธุรกิจ Global วงเงิน 16,410.3 ล้านบาท คิดเป็น 16.2% ธุรกิจ Innovation & New business วงเงิน 19,859.7 ล้านบาท คิดเป็น 18.6% โดยในปี 2566 OR จัดสรรงบลงทุนไว้ที่ 31,196.7 ล้านบาท ใช้ในธุรกิจ Mobility 6,799.1 ล้านบาท ธุรกิจ Lifestyle จำนวน 14,192.9 ล้านบาท ธุรกิจ Global วงเงิน 4,953.5 ล้านบาท ธุรกิจ Innovation & New business วงเงิน 5,251.2 ล้านบาท

นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR กล่าวว่า ในปี 2566 OR ตั้งเป้าขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นใกล้เคียงปีนี้ราว 100 แห่ง จากปัจจุบันที่มีจำนวน 2,108 แห่ง และร้านคาเฟ่อเมซอน เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 400 สาขา จากปัจจุบันที่มีจำนวน 3,927 สาขา ขณะที่แผนการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) คาดว่าภายในช่วงสิ้นปีนี้จะมีประมาณ 300 จุด ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 500 แห่ง แต่ปีหน้า OR จะขยายสถานีชาร์จ EV เพิ่มขึ้นอีก 500 จุด รวมเป็น 800 จุด เน้นเส้นทางถนนสายหลัก เพื่อให้ผู้ขับขี่มีความมั่นใจในการเดินทางว่ามีสถานีชาร์จ EV มั่นใจว่าภายใน 2-3 ปีจะมีสถานีชาร์จ EV ครอบคลุมเส้นทางหลักของไทย

ปัจจุบัน OR มียอดขายน้ำมันเติบโตสูงขึ้นเกิดจากการเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและสถานีบริการน้ำมัน PTT Station มีร้านค้าต่างๆ และเน็ตเวิร์กตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ยเกือบ 4 ล้านคนต่อวัน จากเดิมที่อยู่ราว 3 ล้านคนต่อวัน คาดว่าในปีนี้ OR มียอดขายน้ำมันและส่วนแบ่งการตลาดจะเติบโตดีกว่าปี 2564 และปีหน้ายอดขายน้ำมันจะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง


บางจากอัดงบ 2 พันล้านลุยธุรกิจการตลาดปีนี้

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าบริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนใน 8 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2573) อยู่ที่ 200,000 ล้านบาทเพื่อขยาย 5 ธุรกิจหลัก โดยในปี 2566 กำหนดงบลงทุนอยู่ที่ 45,600 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) ราว 30,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เช่น การปรับปรุงโรงกลั่นและใช้ในโครงการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ราว 6,000 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 1,600 ล้านบาท ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ของกลุ่มบริษัท OKEA ASA อีก 5,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มธุรกิจการตลาดจะใช้ขยายสถานีบริการน้ำมันราว 2,000 ล้านบาท และธุรกิจใหม่ 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บางจากตั้งเป้าปี 2573 มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท จากสิ้นปีนี้ที่คาดจะมี EBITDA กว่า 40,000 ล้านบาท โดยปี 2573 EBITDA มาจากธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ราว 50%, ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน 18% และธุรกิจพลังงานไฟฟ้าราว 10% ที่เหลือจะมาจากธุรกิจการตลาด และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

สำหรับปี 2566 บางจากฯ ตั้งเป้า EBITDA เติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการขยายตัวของ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ที่จะมีการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับกลุ่มบริษัท OKEA ASA มีการขยายกำลังการผลิตประมาณ 40% ทำให้บริษัทรับรู้รายได้และกำไรเข้ามาเต็มปี รวมถึงราคาขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Price) ของ OKEA ASA ที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับที่สูง ขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพของ บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) จะฟื้นตัวกลับมา หลังจากผ่านจุดต่ำสุดในปีนี้ไปแล้ว

ด้านธุรกิจการตลาด บางจากฯ เดินหน้าขยายธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทำให้สถานีบริการน้ำมันบางจากเป็นมากกว่าสถานที่เติมน้ำมัน แต่เป็นจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์คนทุกวัยภายใต้แนวคิด “YOUR” Greenovative Destination for Intergeneration ผ่านการเติบโตจากธุรกิจนอนออยล์ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม (F&D) และสถานีชาร์จ EV พร้อมทั้งวางเป้าหมายในการขยายสถานีบริการน้ำมันในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 1,410 แห่งจากสิ้นปี 2565 มีอยู่ 1,340 แห่ง ส่วนใหญ่ขยายสถานีบริการน้ำมันรูปแบบ Unique Design Service Station และในปี 2573 วางเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 1,900 แห่ง ส่วนร้านกาแฟอินทนิลในปีหน้าเพิ่มเป็น 1,250 แห่งจากปีนี้ที่ 1,030 แห่ง และปี 2573 มีเป้าหมายร้านอินทนิลเพิ่มเป็น 3,000 แห่งทั่วประเทศ

กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของไทยที่มีอย่างต่อเนื่องและแปลกใหม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วทำให้ผลสำรวจผู้บริโภคมีความพึงพอใจสูงสุดและจะกลับมาใช้บริการอีก ซึ่งกว่าจะก้าวมาถึงระดับนี้ได้ไม่ง่ายเลย ต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ และใช้เวลานาน


กำลังโหลดความคิดเห็น