การตลาด - แฟนด้อมชาวไทยช่วงนี้อาจจะถูกขิง น้อยใจ และแอบอิจฉาแฟนด้อมประเทศอื่นๆ เหตุเพราะค่าบัตรคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีที่ทยอยตบเท้ามาจัดแสดงในไทยมีราคาแพงเวอร์ แต่สถานที่จัดงานดูไม่สมกับราคาบัตร และไม่สมศักดิ์ศรีความดังของไอดอลเลย อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนไทยต้องซื้อบัตรแพงๆ แบบนี้ เพราะแม้ราคาบัตรจะพุ่งแรง แต่รายชื่อคอนเสิร์ตทั้งจากเกาหลี รวมถึงของไทยและฝั่งยุโรป ก็มีอัปเดตเข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่อง นี่ถือเป็นสัญญาณบวกต่อภาพรวมตลาดอีเวนต์ที่จะได้ฟื้นคืนชีพกลับมาหายใจต่อด้วยตัวเลข 15,000 ล้านบาทที่เคยทำไว้ก่อนเกิดโควิด-19 อีกครั้ง
ภาพรวมตลาดอีเวนต์ของไทยปกติจะมีมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท แต่เมื่อโควิดเข้ามาเล่นงานตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา อีเวนต์ถือเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ถูกขีดเส้นตายว่า ห้ามจัด! เล่นเอาคนในแวดวงที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจนี้ต้องพลิกตำราต่อลมหายใจกันสุดพลัง ไม่ว่าจะเป็นถ่ายเท ขายหุ้นเปลี่ยนมือเจ้าของ ออกสู่น่านน้ำใหม่ กระจายความเสี่ยง หาอย่างอื่นทำประคองตัวไปก่อน และหนักสุดคือถอดใจ ขาดทุน ล้มหายตายจากกันก็พอมีให้เห็นให้ได้ยินกันบ้าง
แต่ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ (พี่ตูนกล่าวไว้) และ “วันพรุ่งนี้” ก็ได้ส่งสัญญาณมาแล้วตั้งแต่ไตรมาสสามเป็นต้นมา หลังโควิดคลี่คลาย ประเทศไทยพร้อมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ กงล้อภาคเศรษฐกิจกลับมาหมุนเดินหน้าแบบเต็มกำลัง แน่นอนว่าเป็นผลดีต่อตลาดอีเวนต์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะอีเวนต์ประเภท คอนเสิร์ต พบว่ามีจัดกันทุกอาทิตย์ ตั้งแต่รัฐประกาศคลายล็อกจนมาถึงวันนี้ ที่สำคัญจะเห็นว่าคอนเสิร์ตสายเกาฯ ถือเป็นม้าเร็วสุดในการเข้ามาจัดในไทย จากนั้นก็มีตบเท้าเข้ามาจัดอย่างต่อเนื่อง อะไรทำให้เป็นแบบนั้น?
“แฟนด้อมไทย” คือคำตอบ กิตติศัพท์ชื่อเสียงของแฟนด้อมไทยไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะในเรื่องของการซัปพอร์ตไอดอลเกาหลีที่ตัวเองรักในทุกๆ ด้าน ที่สำคัญเปย์หนักมาก ขอให้มาไทยเถอะ แฟนด้อมไทยจะรีบพากันไปเฝ้ารอต้อนรับถึงสนามบินกันเลยทีเดียว เล่นเอาสนามบินแทบแตกให้เห็นมาหลายครั้งแล้ว และนี่ถือเป็นโอกาสที่โปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ต หรือกลุ่มผู้จัดคอนเสิร์ตมองเห็น จึงพากันทุ่มงบแบบจ่ายหนักๆ เพื่อบิดแข่งขันกันแบบไม่มีใครยอมใคร ให้ได้เป็นผู้จัดคอนเสิร์ตในไทย เมื่ออัดงบไปแบบพ่อบุญทุ่มขนาดนั้น ก็ย่อมต้องขายบัตรในราคาที่สูงตามมาเพื่อไม่ให้ขาดทุน จึงไม่แปลกใจที่ไทยขึ้นชื่อว่า ราคาบัตรแพงติดอันดับต้นๆ ของโลก
“แฟนด้อมไทยพร้อมที่จะจ่ายเพื่อไอดอลที่เขารักอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อดีมานด์มันมีมาก ซัปพลายหรือกลุ่มทุนผู้จัดคอนเสิร์ตจึงมีเพิ่มขึ้นตามมา และพร้อมแข่งขันกันเพื่อให้ได้เป็นผู้จัดคอนเสิร์ตเหล่านั้นในไทย แต่เนื่องจากทุกอย่างเกิดขึ้นแบบไม่ทันได้ตั้งตัว คอนเสิร์ตทะลักมีจัดกันถี่มาก ทำให้สถานที่จัดคอนเสิร์ตในไทยซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว จึงกลายเป็นปัญหาตามมาว่า ไม่มีที่ที่เหมาะสมในการจัด ราคาบัตรที่แฟนด้อมไทยจ่ายไป จึงยิ่งดูแพงมากขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับสถานนี่จัดคอนเสิร์ต” เมฆ-เกรียงไกร เจ้าพ่ออีเวนต์ ได้แสดงความคิดเห็นไว้
ดรามาราคาบัตรแพง แต่สถานที่จัดคอนเสิร์ตไม่สมกับความดังระดับโลกของไอดอลเกาหลีในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ คอนเสิร์ต 2022 K-POP MASTERZ IN BANGKOK ซึ่งไลน์อัพศิลปินหลักๆ มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ หนุ่มๆ วง TREASURE (เทรเชอร์), แบมแบม got7 และแจ็กสัน หวัง got7 โดยจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่อิมแพ็ค เอ็กซิบิชัน ฮอลล์ 5-6 เมืองทองธานี เฉพาะสถานที่ก็ไม่ใช่สถานที่ปกติของการจัดคอนเสิร์ตแล้ว แถมบัตรยังมีราคาสูงมาก เรตสูงสุดอยู่ที่ 8,900 บาท ต่ำสุดคือ 3,000 บาท
ล่าสุดในช่วงนี้คือ BLACKPINK [BORN PINK] WORLD TOUR - BANGKOK 7-8 ม.ค. 2566 ณ สนามกีฬาแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย) โดยมีราคาบัตร ตั้งแต่ 2,000-9,600 บาท ดรามาเกิดขึ้นทันทีว่าสถานที่ดูไม่เหมาะสมเลย ระดับ BLACKPINK ควรจัดที่ราชมังคลากีฬาสถานเลยนะ แต่เนื่องจาก BLACKPINK ปักหมุดมาไทยแบบไม่ทันให้ได้เตรียมตัว ราชมังคลาฯ ไม่ว่างรอให้จัดในวันนั้น รวมถึงอิมแพ็คก็มีงานอื่นจองไปก่อนแล้ว สนามศุภชลาศัย จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแทน แน่นอนว่างานนี้บลิ๊งค์ไทยโอดครวญจนถูกบลิ๊งค์ประเทศอื่นขิงใส่ เช่น มาดูที่มาเลเซียมั้ย สถานที่จัดคอนเสิร์ตของ BLACKPINK ดีงามมาก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีคอนเสิร์ตของ “พี่แจ็ก” หรือ แจ็กสัน หวัง กับคอนเสิร์ต JACKSON WANG MAGIC MAN WORLD TOUR 2022 BANGKOK เมื่อวันที่ 25-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ดรามาเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกของการประกาศราคาบัตรจนถึงวันจะขึ้นเล่นคอนเสิร์ต เริ่มตั้งแต่ราคาบัตรที่แพงเวอร์ สูงสุดคือ 18,000 บาท แต่เบเนฟิตที่แฟนคลับพี่แจ็กได้รับนั้นแทบไม่ได้อะไรเลย นอกจากยืนติดขอบหน้าเวที จนตอนหลังพี่แจ็กได้เจรจากับทางผู้จัดให้เพิ่มเบเนฟิตสำหรับคนที่ซื้อบัตร VIP 18,000 บาท เพิ่มเติม
ส่วนก่อนวันเล่นจริงก็มีดรามาว่าผู้จัดคอนเสิร์ตไม่อนุญาตให้นำ “บง” หรืออากาบง (แท่งไฟประจำวง got7) เข้าไป เพราะทีมงานได้เตรียมไฟไว้ให้แล้ว เล่นเอา “กัซ” หรืออากาเซ่ (แฟนด้อมวง got7) เซ็งไปตามๆ กัน แต่สำหรับ “แจ็กกี้” (แฟนด้อม พี่แจ็ก) น่าจะรู้สึกดีมากกว่า งานนี้สั่นคลอนหัวใจ และสั่นคลอนเงินในกระเป๋าของอากาเซ่อย่างหนัก ส่งผลต่อโอกาสในอนาคตสำหรับผู้จัดคอนเสิร์ต ที่หากจะนำสมาชิกคนใดคนหนึ่งของวง got7 เข้ามา ก็ควรต้องถอดบทเรียนจากดรามาในครั้งนี้ด้วย
** อีเวนตฺฟื้นชีพ 1.5 หมื่นล้าน
แม้ดรามาราคาบัตรจะแพงแค่ไหน บัตรก็โซลด์เอาต์ภายในไม่กี่นาที ตลาดอีเวนต์คอนเสิร์ตจึงมีความคึกคักเป็นอย่างมาก ทั้งของไทยเอง อย่างคอนเสิร์ต “Kamikaze Party 2022” ในวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี หรือของจัสติน บีเบอร์ กับ JUSTIN BIEBER JUSTICE WORLD TOUR BANGKOK ก็ขายบัตรหมดเกลี้ยง
ขณะที่อีเวนต์ประเภทอื่นๆ ก็มีแนวโน้มสดใสไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์ลักชัวรีแบรนด์ อย่างแบรนด์คาร์เทีย ที่สร้างความว้าวสุดๆ ที่จัดขึ้นที่หัวลำโพง, การจัดงานเปิดตัวสินค้า หลังจากที่อั้นกันมานาน ช่วงนี้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด, อีเวนต์ในรูปแบบเทรดแฟร์ รวมถึงประชุมสัมมนา และในช่วงส่งท้ายปลายปีนี้ กับงานเคานต์ดาวน์ ปีนี้ภาครัฐปล่อยไฟเขียวให้จัดได้เต็มเหนี่ยว ซึ่งภาคเอกชนปีนี้ก็พร้อมฟาดฟัน สร้างกระแสสู่ปี 2566 กันสุดพลัง
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับงานเคานต์ดาวน์ปีนี้ มั่นใจว่าจะคึกคักอย่างมาก ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน เพราะถือเป็นปีแรกที่ได้กลับมาจัดงานเคานต์ดาวน์หลังจากเจอโควิดมา และในปีนี้เป็นการกลับมาจัดงานแบบปกติ เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยมั่นใจว่าจะออกมาร่วมงานจำนวนมาก ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจจะน้อยอยู่ ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังมีไม่สูงมากนัก โดยเฉพาะจีนที่ขึ้นชื่อว่าชอบมาท่องเที่ยวในไทย ตอนนี้ก็ยังล็อกดาวน์กันอยู่
นายเกรียงไกรกล่าวด้วยว่า อินเด็กซ์เอง ปีนี้ก็ได้เป็นผู้จัดงานเคานต์ดาวน์ให้กับทางเซ็นทรัลเวิลด์อีกครั้ง โดยได้เริ่มวางแผนงานกันไปบ้างแล้ว เชื่อว่าปีนี้จะยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง เพราะเดิมห้างใหญ่ในไทยจะชิงความยิ่งใหญ่ของการเป็นเดสติเนชันของการจัดงานเคานต์ดาวน์ในกรุงเทพฯ หลักๆ มีเพียง 2 แบรนด์ คือ เซ็นทรัลเวิลด์ และเอเชีย ทีค แต่ปีนี้มีผู้เล่นถึง 3 แบรนด์ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ คือ ไอคอนสยาม ต่างฝ่ายต่างพร้อมที่จะสร้างความยิ่งใหญ่กันเต็มที่ เพื่อต่อยอดสู่การดึงกำลังซื้อทั้งไทยและเทศให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นในปี 2566
จากทิศทางของอีเวนต์คอนเสิร์ต รวมถึงงานเคานต์ดาวน์ ส่งผลให้ภาพรวมตลาดอีเวนตฺปีนี้ถือว่าพ้นน้ำแล้ว หรือทั้งปีนี้น่าจะทำได้ 7,000-8,000 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของมูลค่าตลาดในปี 2019 (ก่อนจะมีโควิด) ส่วนในปี 2566 มั่นใจว่าจะกลับมา 100% แต่อย่าลืมว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมาดิจิทัลได้เข้ามาแทนที่อีเวนต์ โดยเฉพาะอีเวนต์ประเภทการจัดประชุมสัมมนา บวกกับผู้ประกอบการรวมถึงผู้จัดงานก็มีล้มหายไปบ้าง ดังนั้นปี 2566 มูลค่าตลาดอีเวนต์จึงอาจจะทำได้เพียง 70-80% ของ 15,000 ล้านบาทที่เคยทำไว้ก่อนเกิดโควิด