"ศักดิ์สยาม" หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีกระทรวงที่ดินฯ ญี่ปุ่น (MLIT) พร้อมลงนามความร่วมมือ ส่งเสริมความรู้พัฒนาระบบราง และเดินหน้าโครงการเมืองอัจฉริยะบางซื่อ
วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ อาคารสำนักงาน MLIT กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีกับ H.E. Mr. SAITO Tetsuo (นายไซโต เท็ตสึโอะ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) โดยมีนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมหารือฯ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันประเด็นการดำเนินงานที่มีร่วมกันในปัจจุบันและในอนาคต ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT)
ซึ่งรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านระบบราง โดยมีขอบเขตเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องด้านระบบราง ในด้านนโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
รวมถึงร่วมเป็นสักขีพยานในการแสดงเจตจำนงการต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบางซื่อ ระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (UR) โดยอัตโนมัติ โดยมีขอบเขตความร่วมมือเพื่อผลักดันการพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อและแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม The minutes of Meeting ระหว่าง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กับ UR เกี่ยวกับผลการประชุมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะรอบพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือโครงการเมืองอัจฉริยะบางซื่อ (Bang Sue Smart City Project)
สำหรับการประชุมหารือระดับทวิภาคีครั้งนี้ ได้มีการหยิบยกประเด็นสำคัญในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ดังนี้
1. ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายได้กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปกของไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว นอกจากนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นได้มีการลงนาม “แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) ฝ่ายไทยหวังว่าการเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้จะได้หารือและผลักดันประเด็นต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีการดำเนินการร่วมกัน
2. การพัฒนาระบบรางและความเชื่อมโยงความสนใจของฝ่ายญี่ปุ่นในโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โครงการรถไฟขนส่งมวลชน และโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ฝ่ายไทยได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับการสนับสนุนนการศึกษารถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ร่วมกับกรมการขนส่งทางราง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต
3. การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน ฝ่ายไทยขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการศึกษาพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในประเทศไทย โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อซึ่งได้รับพระราชทานนามเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และยินดีเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีความสนใจในการลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะและ TOD
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้เสนอโอกาสการสร้างความสัมพันธ์มิติใหม่ในด้านคมนาคมขนส่งซึ่งมีความสอดคล้องกับบริบทของโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด การใช้เทคโนโลยีและระบบวิศวกรรมขั้นสูงในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างอุโมงค์ของฝ่ายญี่ปุ่น