xs
xsm
sm
md
lg

‘สืบศิษฏ์’ ชี้ญี่ปุ่นลงทุนเวียดนามแซงไทยแล้ว ห่วงกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ ผู้เชี่ยวชาญการค้าการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น อดีตคณะกรรมการเศรษฐกิจทีมกรณ์ จาติกวณิช วิเคราะห์ท่าทีการลงทุนไทย-เวียดนาม ของญี่ปุ่น ผ่านเฟซบุ๊ก Shad Sarntisart เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 โดยให้ความเห็นว่า

การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC เพิ่งปิดฉากไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงแอบลุ้นถึงท่าทีของนักลงทุนต่างชาติต่อไทยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะนักลงทุนเบอร์หนึ่งอย่างญี่ปุ่น ท่ามกลางการโหมกระแสข่าวการย้ายฐานการผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่ไปประเทศขู่แข่งตัวฉกาจอย่างเวียดนาม โดยเฉพาะเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี คิชิดะ ฟูมิโอะ ก็เพิ่งบินไปพบนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ที่กรุงฮานอย เพื่อหารือถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

หากมองที่เม็ดเงินการลงทุนของญี่ปุ่นในต่างประเทศ จะพบว่าเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาเวียดนามได้แซงไทยไปเป็นที่เรียบร้อยโดยผงาดขึ้นเป็นแหล่งลงทุนอันดับสองของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ด้วยเม็ดเงินที่สูงกว่าหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นล้านบาท (Ministry of Finance, Japan) ในขณะที่ญี่ปุ่นลงในไทยเพียงเก้าหมื่นล้านบาท หากมองย้อนไปที่ตัวเลขในอดีตอย่างช่วงปี 2018-2020 เราจะพบว่าไทยเคยนำหน้าเวียดนามมาโดยตลอด การก้าวแซงไทยของเวียดนามในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องนำมาคิดอย่างจริงจังเพื่อปรับกลยุทธ์ไม่ให้เม็ดเงินไหลไปมากกว่านี้ น่าลุ้นมากครับว่าปี 2022 นี้ตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไรและเราจะถูกเวียดนามทิ้งห่างไปมากกว่าเดิมไหม การย้ายฐาน ย้ายทุนจากไทยของญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อรายได้และอัตราการเจริญเติบโตของ GDP เราอย่างแรง เพราะเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญที่สุดมีอยู่สองเครื่องเท่านั้น คือการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นปัจจัยภายนอกหรือมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น

เมื่อมองภาพเล็กลงมาหน่อยเหลือแค่ประเทศไทยจะพบว่าในปี 2021 ที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้ผงาดกลับมาคว้าแชมป์นักลงทุนเบอร์หนึ่งของไทยอีกครั้งหลังจากที่จีนได้ชะลอการลงทุนไป โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ก็ไม่พ้นเครือมิตซูบิชิที่มีการอนุมัติเงินลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจยานยนต์รวมถึงอีวี และญี่ปุ่นยังคงเป็นแชมป์นักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Easter Economic Corridor : EEC) ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยกว่า 6,000 บริษัท (JETRO) โดยนับร้อยบริษัทได้มีการจดทะเบียนเปิดเพิ่มท่ามกลางความไม่แน่นอนของวิกฤตโควิด ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าไทยยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญทางธุรกิจของญี่ปุ่น ไทยถือเป็นประเทศที่มีบริษัทญี่ปุ่นอยู่มากที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชียรองจากแค่จีนเท่านั้น

แล้วส่วนไหนที่หนีออกไปเวียดนามล่ะ? ก่อนอื่นผมอยากให้มองภาพการผลิตรถยนต์สักคันว่าถูกประกอบจากหลายชิ้นส่วน บางชิ้นส่วนต้องใช้แรงงานจำนวนมาก (Labor Intensive) ในการผลิต ในขณะที่บางส่วนอาศัยนวัตกรรม อาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย (Innovative-Drive Manufacturing) เมื่อค่าแรงในไทยแพงขึ้น นักลงทุนเหล่านี้ก็ต้องหาทางโยกย้ายชิ้นส่วนที่ใช้แรงงานจำนวนมากไปผลิตในประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า (Cost Reduction) ในกรณีของไทย จากการที่ได้ทำงานคลุกคลีกับบริษัทญี่ปุ่นมานับพันบริษัท ต้องบอกว่าไทยยังเป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่นอยู่ครับ แต่ญี่ปุ่นเองก็เลือกผลิตชิ้นส่วนที่ใช้นวัตกรรมในไทยมากขึ้นจากการที่คนไทยมีทักษะมากยิ่งขึ้น โยกมาจากเดิมทีที่เคยผลิตในญี่ปุ่นเอง และนี่ถือเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยครับ เพราะแนวทางนี้แหละจะช่วยให้ประเทศเราหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ครับ (Middle Income Trap) แต่ต้องวงเล็บด้วยว่าไม่มีปัจจัยลบอื่นๆ ที่เกิดใหม่อย่าง การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาการบริหารจัดการน้ำท่วม หรือความไม่แน่นอนทางการเมืองมาผลักไสให้เขาอยากไปที่อื่นครับ

กลับมาพูดถึงเวียดนาม ต้องพูดตามตรงว่าเขายังเสียเปรียบไทยอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติที่เวียดนามมักจะโดนพายุซัดแบบเต็มๆ อยู่บ่อยๆ ส่งผลให้เกิดดินถล่ม-น้ำท่วมตามมา ระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค รวมไปถึงโลจิสติกส์ต่างๆ ที่ยังไม่เพียบพร้อมเท่าเมืองไทย กฎหมายที่สลับซับซ้อน ซึ่งรัฐบาลของเขาเองก็ทราบจุดอ่อนตรงนี้ดีและกำลังเร่งแก้ไข อีกทั้งยังเร่งปั๊มโปรโมชันสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างหนักเพื่อเชื้อเชิญนักลงทุนเข้ามา ทั้งนี้ เวียดนามยังได้เปรียบจากการที่เป็นสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เช่นเดียวกับญี่ปุ่นอีกด้วย

เมื่อตัวเลขแสดงให้เห็นได้ชัดแล้วว่าญี่ปุ่นเริ่มปันใจให้เวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเราเองก็ต้องเร่งอัปเกรดคุณภาพแรงงาน เสริมสร้างทักษะต่างๆ ติดอาวุธให้พร้อมรับการทำงานที่อาศัยนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น ให้นักลงทุนเห็นว่าคุ้มค่ากับค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายมากยิ่งขึ้น อย่างเรื่องของปัญหาภาษาอังกฤษที่ไทยยังถูกจัดให้อยู่ในระดับ ‘ต่ำมาก’ ในขณะที่เวียดนามอยู่ในระดับ ‘ปานกลาง’ ทั้งนี้ เพื่อให้เม็ดเงินการลงทุนจากญี่ปุ่นนี้ยังได้ผลักดันยอด GDP ของเราให้โตต่อไปในอีกระดับครับ

ท้ายสุดนี้ อยากจะเล่าให้ทุกคนฟังว่า ทุกครั้งที่ผมได้มีโอกาสแอบถามนักลงทุนญี่ปุ่นแบบตรงๆ ว่าถ้าให้เลือกข้อประทับใจสักข้อของเวียดนามที่ไทยยังสู้ไม่ได้คืออะไร น่าแปลกใจครับ แต่ทุกคนจะตอบตรงกันว่า คนเวียดนามขยัน ตั้งใจ และสู้งานมาก! จะน่ากลัวก็ตรงนี้แหละครับ!


กำลังโหลดความคิดเห็น