กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI ประเทศญี่ปุ่น หารือกรอบความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรม 2 ประเทศหวังดึงกลุ่มทุนข้ามชาติร่วมพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีไทย กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยศักยภาพต่างแดน พร้อมเร่งสร้างบุคลากรเชี่ยวชาญเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ภายใต้กรอบการทำงานร่วมกัน ตลอดจนพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาเพื่อรองรับบุคลากรที่ผ่านการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้จากโครงการต่างๆ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Digitalization เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการสร้าง System Integrator ตลอดจนยกระดับภาคการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียน ล่าสุดข้อมูลต้นปี 2565 ญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นการลงทุนไทย ผ่านการลงทุนโครงการต่างๆ เป็นจำนวนร้อยละ 23 ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry, METI) ได้ร่วมมือกันในด้านการพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมประชุมกับ นายนิชิมุระ ยาสึโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น ผ่านการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานด้านการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและกำหนดแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือในอนาคต ระหว่างการประชุมเอเปก 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมครั้งนี้มุ่งส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม พร้อมกำหนดความร่วมมือในอนาคต ภายใต้กรอบการทำงาน Cooperation Framework on Human Resource Development for Realizing Industry 4.0 ผ่าน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1. แนวทางการร่วมกันพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 2. การขับเคลื่อนนโยบาย BCG ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3.ทการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานผ่านแนวคิดการร่วมสร้าง (Co-creation) และการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยกับญี่ปุ่น
“การแลกเปลี่ยนกรอบความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมไทย มุ่งเน้นการสร้างโอกาสด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ผ่านการถอดบทเรียนหลังการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG Model ของไทย” นายสุริยะกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม และ METI ร่วมกันยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการใช้เทคโนโลยีเข้ามายกระดับภาคการผลิตตามเป้าประสงค์ต่างๆ อาทิ โครงการ Lean Automation and System Integrators (LASI) และการใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ หรือโมโนซึกุริ ที่ใช้พลังกลที่มีอยู่ในธรรมชาติแก้ปัญหาซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าพลังงาน ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน โดยกรอบการทำงานที่ทั้งสองกระทรวงได้มีการแลกเปลี่ยนกันไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 และจะได้รับการยกระดับไปอีกขั้น โดยเฉพาะในด้านการสร้างบุคลากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมด้วยการแลกเปลี่ยนกรอบความร่วมมือในวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวยังมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาเพื่อรองรับบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้จากโครงการต่างๆ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Digitalization เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการสร้าง System Integrator เพื่อยกระดับภาคการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียน
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น การดำเนินงานโครงการการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบการจัดการซากยานยนต์แบบครบวงจรในประเทศไทย (End-of-life Vehicles in Thailand : ELV Project) ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการกำจัดขยะรถยนต์ที่จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศไทย และโครงการศึกษาแนวทางในการพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ในพื้นที่มาบตาพุด (Carbon Neutral Industrial Estate Project at MapTa Phut Industrial Estate) ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการลงนาม MOC ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายจากไทยและญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 และได้รับการสนับสนุนจาก METI ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตพลังงานไฮโดรเจนด้วยพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดที่หลากหลาย
"ทั้งนี้ แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กระทบต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรมไทยและทั่วโลก แต่ญี่ปุ่นยังคงเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยจากข้อมูลสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายเดือนสะสมเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าโครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 198 โครงการ เงินลงทุน 77,290 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดบริการและสาธารณูปโภค รองลงมาเป็นหมวดผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง เฉพาะญี่ปุ่นมีจำนวน 45 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 13,788 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด" นายสุริยะกล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายนิชิมุระ ยาสึโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ได้เปิดเผยว่า METI ได้ตัดสินใจที่จะให้การสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทยเพื่อขยายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่น โดยในปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่หลายรายต่างมีแผนการขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท โซนี่กรุ๊ปคอร์ปอเรชัน ที่ต้องการขยายโรงงานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ บริษัท เอจีซี ที่มีแผนการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านเยน และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ที่มีการลงนาม MOU กับภาครัฐของไทยในด้านการผลิต EV
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *