xs
xsm
sm
md
lg

ดีป้าเดินหน้าชวนญี่ปุ่นลงทุนไทย หนุนสตาร์ทอัป-ขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีป้าลุยสานต่อความร่วมมือ MIC ประเทศญี่ปุ่น ชวนนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนดิจิทัล สตาร์ทอัปขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี และลงทุนโครงการไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ แย้ม เตรียมจัดงานใหญ่หนุนอี-สปอร์ต

นายณัฐพล นิมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีป้าได้เดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับ Ministry of Internal Affairs and Communications (MIC) (กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น) เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานในการส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ทอัปไทยในทุกระยะการเติบโต พร้อมแนะนำโครงการไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ อ. ศรีราชา จ.ชลบุรี ถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่นักลงทุน โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นจะได้รับหากเข้ามาใช้พื้นที่ในประเทศไทยเป็นศูนย์นวัตกรรมต่างๆ ที่สำคัญคือการชักชวน MIC และนักลงทุนญี่ปุ่นให้ร่วมลงทุนในดิจิทัล สตาร์ทอัป เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ท ซิตี รวมถึงความร่วมมือในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมและอี สปอร์ต ซึ่งดีป้ากำลังเตรียมแผนจัดเป็นอีเวนต์ใหญ่ในประเทศไทยเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม บทบาทที่สำคัญของดีป้าคือ การพัฒนากำลังคนดิจิทัลที่มีทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยี AI Blockchain รวมถึงการพัฒนา Data Science และ Data Engineer ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ดีป้ายังมีแผนจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (National Big Data Institute : NBDi) เพื่อการขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูล ดังนั้นจึงนับเป็นสิ่งสำคัญในการจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนด้วยความพร้อมที่รัฐบาลมีอยู่

Tawara Yasuo, Director-General Global Strategy Bureau กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างดีป้า และ MIC ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดโครงการ INNO-vation บ้า-กล้า-คิด โครงการสร้างนำเทคโนโลยีสร้างบริการออนไลน์ ที่จัดต่อเนื่องมากว่า 10 ปีทั้งนี้ ทาง MIC มีความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมสตาร์ทอัปโดยเฉพาะด้านไอซีทีมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม โดย MIC เอง มีการส่งเสริมบริษัทญี่ปุ่นมุ่งสู่ตลาดโลกเช่นกัน และหวังว่าจะได้ร่วมงานกันในอนาคต ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ

ทั้งนี้ ระหว่างดีป้า และ MIC เคยร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรักษาและพัฒนาระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงระหว่างผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย ภายใต้กรอบความร่วมมือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และชุมชนการร่วมดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกัน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ โดยมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา

นายณัฐพล กล่าวว่า นอกจากนี้ ดีป้ายังเดินได้ดูนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะที่ HarvestX Lab (Future Farming) ณ The University of Tokyo โดย HarvestX Lab เป็นสถานที่สำหรับวิจัยระบบหุ่นยนต์ปลูกสตรอว์เบอร์รีอัตโนมัติ โดยมีการนำข้อมูลต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีเอไอมาพยากรณ์การเพาะปลูก และใช้หุ่นยนต์ในการผสมเกษร จนถึงขั้นตอนการเก็บผลผลิต ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็น 83.7% มากกว่าการผสมเกษรโดยธรรมชาติ (ผึ้ง) ที่ได้ผลผลิตอยู่ที่ 16.6%

ด้านนายปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ปัจจุบัน HarvestX Inc. เป็นสตาร์ทอัปวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ และซอฟต์แวร์โซลูชันด้านการเกษตรสำหรับ Indoor Farming เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2563 มีมูลค่าลงทุนปัจจุบันอยู่ที่ 100 ล้านเยน หรือ ประมาณ 25 ล้านบาท โดยเริ่มแรก HarvestX เกิดขึ้นใน Hongo Tech Garage ซึ่งเป็นพื้นที่คิดค้นนวัตกรรมสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโตเกียวกับโจทย์ธรรมดาที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการเกษตร

โดยแนวคิดเกิดขึ้นจากการสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในกลุ่มผู้ปลูกพืชในระบบปิด (Plant Factory) และผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการทดลองต่างๆ เห็นถึงศักยภาพของกลุ่ม Plant Factory ผู้ปลูกผลไม้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการผสมเกสร และสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ผสมเกสรสำหรับต้นสตรอว์เบอร์รีได้เป็นครั้งแรกของโลก ต่อมาในปี 2564 จึงได้สร้าง HarvestX Lab ขึ้น และมีแผนที่จะนำโซลูชันพร้อมด้วยฮาร์ดแวร์ขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ภายในปี 2566 นี้

อย่างไรก็ตาม ดีป้ายังได้ร่วมแลกเปลี่ยนแผนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเกมและอี สปอร์ตในประเทศไทยกับ Sony Interactive Entertainment (SIE) บริษัทในเครือ SONY ผู้ดูแลรับผิดชอบแบรนด์ PlayStation รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมและอี สปอร์ตที่เกิดขึ้น ตลอดจนการหารือแนวทางความร่วมมือในอนาคต

รวมถึงการเข้าพบ Zaif Siddiqi, Director Global Business Business Solution Division, NTT docomo เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตด้านการพัฒนาแอปพลิเคชัน 5G และ 6G โดย Mr.Zaif กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G ถือเป็นเสาหลักสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI, IoT, XR และ Cloud ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญของ Digital Transformation โดยจะก่อให้เกิดการพัฒนา UI / UX การสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการใหม่ๆ และการยกระดับผลผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างตรงจุด ขณะที่เทคโนโลยี 6G จะถูกพัฒนาและนำมาใช้ในหลากหลายมิติ ซึ่งจะเปลี่ยนคำว่า Smart ในสังคมยุค 5G ไปสู่ Well-being พร้อมประเมินว่า ในปี 2030 เทคโนโลยี 5G และ 6G จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย


กำลังโหลดความคิดเห็น