“กีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์” กำหนด 9 ภารกิจสำคัญ ขับเคลื่อนงานกระทรวงพาณิชย์ เน้นดูแลค่าครองชีพ บริหารจัดการสินค้าเกษตร เร่งรัดส่งออกและค้าชายแดน เร่งเจรจา FTA พัฒนาระบบบริการประชาชน ส่งเสริม SMEs เร่งรัดจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริม Soft Power และพัฒนากำลังคน
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนกระทรวงพาณิชย์โดยมีภารกิจที่จะดำเนินการเร่งด่วนรวม 9 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ การลดภาระค่าครองชีพและการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการ การบริหารจัดการสินค้าเกษตรโดยใช้การตลาดนำการผลิต การเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน การเร่งรัดการเจรจา FTA การพัฒนาระบบการบริการประชาชน การส่งเสริมและพัฒนา SMEs และ MSMEs การเร่งรัดการจดทะเบียนและการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมภาคการผลิตและบริการผ่านการใช้ Soft Power และการขับเคลื่อน Back Office
สำหรับภารกิจด้านการลดภาระค่าครองชีพ จะให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อน โครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 20 Lot ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ Lot 21 และจะทำเพิ่มเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน โดยกำลังอยู่ระหว่างการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะเน้นการดูแลราคาสินค้าให้เป็นธรรมทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค
ด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตร จะใช้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต โดยจะดูความต้องการของตลาดและมาแจ้งแก่เกษตรกรให้ผลิตตามที่ตลาดต้องการ ไม่ใช่ผลิตตามที่ตัวเองถนัด เพราะทำตลาดได้ยาก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยในส่วนนี้ โดยในเรื่องของสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว มัน ไม่น่าจะมีปัญหา ตลาดยังไปได้ ส่วนข้าวโพดก็ยังไปได้ดีอยู่ รวมถึงปาล์มน้ำมัน
ด้านการเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน ขณะนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกำลังหารือกับภาคเอกชน เพื่อประเมินเป้าหมายการส่งออกอยู่ คาดว่าตลาดจะผันผวนเล็กน้อยจากเศรษฐกิจโลกถดถอย การแข่งขันจะมากขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับเอกชนปรับแผน ปรับกลยุทธ์ให้ทันสถานการณ์ต่อไป ส่วนการค้าชายแดน จะเร่งผลักดันให้มีการเปิดด่านเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันเปิดแล้ว 71 ด่านจากด่านที่มีทั้งหมด 97 ด่าน
ด้านการเร่งรัดการเจรจา FTA จะผลักดันการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา, ไทย-EFTA, ไทย-ตุรกี และไทย-ปากีสถาน ส่วน FTA อื่นๆ ต้องรอดูท่าทีของคู่เจรจาก่อน และยังจะให้ความสำคัญต่อการผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA เช่น RCEP และ FTA กรอบที่มีอยู่เดิม
ด้านการพัฒนาระบบการบริการประชาชน จะผลักดันการจดทะเบียนธุรกิจ บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา บริการข้อมูลการค้าในประเทศและต่างประเทศ และบริการสารสนเทศและกิจกรรมกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นออนไลน์ทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
ด้านการส่งเสริม SMEs และ MSMEs จะเดินหน้าพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กให้มีโอกาสทางการตลาด การทำธุรกิจ และส่งออก ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำแล้ว โดยเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กสามารถส่งออกได้ โดยปรับเงื่อนไขให้น้อยลง
ด้านการจดทะเบียนและการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา จะเร่งรัดการจดทะเบียนให้เร็วขึ้น โดยนำระบบไอทีเข้ามาช่วย ใช้ AI เข้ามาทำงานแทนคน และจะเร่งส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า เช่น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
ด้านการส่งเสริมภาคการผลิตและบริการผ่าน Soft Power จะเร่งส่งเสริม Soft Power ไทยใน 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ อาหารและร้านอาหารไทย สุขภาพและความงาม สินค้าอัตลักษณ์ไทย เช่น แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ของตกแต่งบ้าน และดิจิทัล คอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ ละคร เกม แอนิเมชัน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
ด้าน Back Office จะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับภารกิจที่ประชาชนคาดหวังจากกระทรวงพาณิชย์ เพราะปัจจุบันนี้กระทรวงพาณิชย์มีกำลังคนไม่เพียงพอ ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูในเรื่องนี้แล้ว จะมาหาคำตอบว่าขาดคนเท่าไร ต้องการเพิ่มจุดไหน และโครงสร้างการบริหารงานบุคคลปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ และจะนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป