การตลาด - “ซีอาร์จี/CRG” เปิดยุทธศาสตร์กลุ่มอาหารญี่ปุ่นหลังเงียบมานาน เน้นทำตลาดแต่แบรนด์เดิมนานกว่า 8 ปี ไม่มีแบรนด์ใหม่ ปีหน้ารุกหนักเปิดเป็นทางการไม่ต่ำกว่า 4 แบรนด์ใหม่ พร้อมขยายฐานสู่อาหารเกาหลีเป็นครั้งแรกด้วย ชี้นโยบายซื้อไลเซนส์แบรนด์ท็อปทรีเท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าผูู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่ในไทยที่เป็นเชนแล้วนั้น ถ้าหากพูดถึงแบรนด์ที่ติดท็อปทรีแล้วย่อมต้องมีชื่อของ ซีอาร์จี ติดอยู่ในกลุ่มแน่นอน
เพราะซีอาร์จีในเครือเซ็นทรัล ถือได้ว่าเป็นรายใหญ่รายหนึ่งในตลาดนี้ ทั้งในแง่ของจำนวนแบรนด์ที่มีมาก จำนวนประเภทอาหารที่ทำอยู่ก็หลากหลาย จำนวนสาขาที่กระจายในทุกพื้นที่ รวมทั้งในแง่ของยอดรายได้รวมด้วย
โดยซีอาร์จีมีการแยกธุรกิจกลุ่มอาหารออกมาถึง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. กลุ่มอาหารญี่ปุ่น สัดส่วนรายได้มากถึง 20% มี 6 แบรนด์ คือ เปปเปอร์ลันช์, คัตสึยะ, โอโตยะ, โยชิโนยะ, ชาบูตง และเทนยะ
2. กลุ่มเบเกอรีและเครื่องดื่ม ของหวาน เช่น มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้ แอนส์, โคลด์ สโตน ครีมเมอรี่, อาริกาโตะ เป็นต้น
3. กลุ่มอาหารไทยและจีน เช่น ไทยเทอเรส, อร่อยดี, ส้มตำนัว เป็นต้น
4. กลุ่มอาหารตะวันตก เช่น เคเอฟซี เป็นต้น
จากข้อมูลระบุว่า ที่ผ่านมาเมื่อปี 2564 CRG มีร้านอาหารและเครื่องดื่มรวมมากกว่า 18 แบรนด์ มีสาขาให้บริการจำนวน 1,380 สาขาทั่วประเทศ และปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้มากกว่า 9,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2565 จะมีรายได้รวมเป็นมากกว่า 12,000 ล้านบาท
นี่ยังไม่นับรวมถึงแบรนด์อื่นๆ อีกมากที่เข้าไปเป็นพันธมิตรถือหุ้นด้วย เช่น สลัดแฟคทอรี่, บราวน์ ล่าสุดปีนี้ CRG ก็ได้เข้าซื้อหุ้นแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อ Shinkanzen Sushi และ Senma Sushi
โดยในปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้กว่า 9,370 ล้านบาท คาดว่าในปี 2565 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 12,100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากล่าวได้ว่า ซีอาร์จี ไปเน้นขยายและเพิ่มแบรนด์อาหารในกลุ่มอื่นทั้ง 3 กลุ่มมากขึ้น ทำให้กลุ่มอาหารญี่ปุ่นจึงยังคงเน้นไปที่แบรนด์เดิมเท่านั้น ไม่ได้มีการขยายแบรนด์ใหม่เพิ่มแต่อย่างใด
ทว่า จากนี้ไปกลุ่มอาหารญี่ปุ่นของ ซีอาร์จี ดูเหมือนว่าจะเปิดฉากรบอย่างเข้มข้นอีกครั้ง
นายธีรวัฒน์ เลิศถิรพันธ์ุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มอาหารญี่ปุ่น บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี เปิดเผยว่า ในปีหน้า (2566) จะเป็นปีที่กลุ่มอาหารญี่ปุ่นของซีอาร์จีมีแผนการดำเนินงานในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะกับการเปิดตัวร้านอาหารแบรนด์ใหม่อย่างเป็นทางการมากถึง 4 แบรนด์ ที่เป็นการซื้อไลเซนส์แฟรนไชส์จากเจ้าของสิทธิ์เข้ามาทำตลาดในไทย หลังจากที่บริษัทฯ ไม่ได้มีการขยายแบรนด์ใหม่ในกลุ่มอาหารญี่ปุ่นมานานถึง 8 ปี
เพราะที่ผ่านมามุ่งทำตลาดเฉพาะ 6 แบรนด์เดิมเท่านั้น ที่มีความหลากหลายในการจับกลุ่มเป้าหมายด้วย
ทั้งนี้ ในกลางเดือนธันวาคมปีนี้จะเปิดตัวไม่เป็นทางการ 1 แบรนด์ก่อน คือ ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ (Ramen Kagetsu Arashi) ประเภทราเมนระดับท็อป 3 จากญี่ปุ่น
ส่วนปีหน้าจะเปิดอีก 3 แบรนด์ที่เหลือซึ่งยังอยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียด คาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดได้ในเร็วๆนี้ และคาดว่าจะเปิดตัวครึ่งปีแรกปีหน้า 1 แบรนด์ และครึ่งปีหลังอีก 2 แบรนด์ โดยที่เจรจาอยู่เป็นอาหารญี่ปุ่นอีก 2 แบรนด์ ประเภท อิซากายะ กับปิ้งย่างบุฟเฟต์ ส่วนอีกแบรนด์ที่เป็นอาหารเกาหลีที่เปิดบริการในไทยอยู่แล้วจะเข้าไปซื้อแฟรนไชส์มาดำเนินการ
“นโยบายของเราในการซื้อแฟรนไชส์จะเน้นไปที่อาหารที่มีศักยภาพ เป็นที่รู้จักของตลาดและจะต้องเป็นแบรนด์ที่มียอดขายสูงติดท็อปทรีในตลาด เช่น ล่าสุดคือแบรนด์ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ เป็นร้านราเมนยอดนิยมมานานกว่า 30 ปีในญี่ปุ่น คนไทยรู้จักดี มีประมาณ 200 สาขาที่ญี่ปุ่น และมากกว่า 290 สาขาทั่วโลก เช่น ไต้หวัน จีน เซี่ยงไฮ้ เป็นราเมนรายแรกในญี่ปุ่นที่ลูกค้าสามารถเลือกเมนูและสั่งซื้อโดยตรงผ่านตู้สั่งอาหาร และมั่นใจว่าจะไม่มีความซ้ำซ้อนและคนละกลุ่มเป้าหมายกับแบรนด์เดิมที่มีอยู่คือ ชาบูตง ที่เป็นพรีเมียมแบรนด์” นายธีรวัฒน์กล่าว
คราวนี้นอกจากจะมุ่งขยายอาหารญี่ปุ่นในประเภทใหม่ๆ เพิ่มแล้ว ยังมองการขยายฐานใหม่ๆ สู่อาหารเกาหลีอีกด้วย ที่มีการเติบโตอย่างมากทั้งแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นมามากมาย ทั้งที่เป็นเชนให้แฟรนไชส์ และรายย่อย จากกระแสเคป็อปที่ยังแรง เราจึงมองอาหารเกาหลีเพิ่มขึ้นมา
”ตอนนี้อาหารญี่ปุ่นก็ยังมีการเติบโตเหมือนเดิมแต่ค่อนข้างที่จะไม่ได้หวือหวาเหมือนในอดีตแต่ว่าก็ยังเติบโตต่อเนื่อง อาหารญี่ปุ่นทุกวันนี้กลายเป็นเหมือนอาหารหลักปกติทั่วไปของคนไทยไปแล้ว ไม่ได้ต้องรอโอกาสพิเศษวาระพิเศษที่จะมากินกัน แต่ที่มาแรงและยังมีกระแสต่อเนื่องก็คือ อาหารเกาหลี ซึ่งยังเป็นเทรนด์ที่แรงอยู่จากกระแสเคป็อปที่ไม่จางไป เราจึงต้องขยายฐานมาที่อาหารเกาหลีด้วยเช่นกัน เพื่อเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอของเรา”
ปัจจุบันกลุ่มอาหารญี่ปุ่นของซีอาร์จีมีรวม 6 แบรนด์ และจำนวนสาขา คือ เปปเปอร์ลันช์ 50 สาขา, คัตสึยะ 52 สาขา, โอโตยะ 46 สาขา, โยชิโนยะ 32 สาขา, ชาบูตง 16 สาขา และเทนยะ 12 สาขา รวมทั้งสิ้น 211 สาขา คาดว่าสิ้นปีนี้จะเป็น 215 สาขา แบ่งสัดส่วนเป็น กรุงเทพฯ 68% และต่างจังหวัด 32% และปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 235 สาขา และยังมีร้านค้าโคมิอาหารเบนโตะที่เป็นเวอร์ชวลแบรนด์ ขายทางออนไลน์เท่านั้น
โดยกลุ่มอาหารญี่ปุ่นนี้มียอดขายรวม 1,400 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว เป็นสัดส่วนรายได้ 20% จากรายได้รวมทั้งหมดของซีอาร์จี และเมื่อต้นปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้รวมปีนี้ของกลุ่มอาหารญี่ปุ่นจากแบรนด์เดิมที่ 1,900 ล้านบาท แต่คาดว่าจะปรับเป้าเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท เฉพาะในแบรนด์เดิมเนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมตลาดร้านอาหารแบบนั่งรับประทานในร้านกลับมาดีขึ้น โดยตั้งเป้าปี 2565 กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นจะสามารถสร้างการเติบโตมากกว่า 35%
โดยสัดส่วนรายได้มาจาก นั่งรับประทานในร้าน 75% เทกอะเวย์ (รวมสินค้าพร้อมรับประทาน สินค้าพร้อมปรุง ด้วย) 5% และดีลิเวอรี 20% (ดีลิเวอรีปีที่แล้วมีสัดส่วนมากถึง 50% เนื่องจากการระบาดหนักของโควิดจึงโตมาก) นอกจากนั้นยังมีรูปแบบที่เรียกว่า ไฮบริด คลาวด์ อีกด้วย (Hybrid Cloud ) ที่จะมีหลายแบรนด์อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เน้นการใช้พื้นที่ครัว มีที่นั่งรับประทานไม่มาก เน้นการซื้อแบบเทกอะเวย์
สำหรับแบรนด์ใหม่ ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ เปิดสาขาแรกที่สยามสแควร์วัน ชั้น 4 ในเดือนธันวาคม และคาดว่าปีหน้าจะเปิดเพิ่มอีก 5 สาขาในเฟสแรก เป็นราเมนที่รับประทานได้บ่อยๆ ราคาเฉลี่ย 100 กว่าบาท-200 บาท
นายธีรวัฒน์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากการปรับตัวของผู้บริโภคที่กลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติ ในขณะที่เชนร้านอาหารรายใหญ่เริ่มลงทุนในการเร่งขยายสาขามากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงการเร่งขยายพอร์ตโฟลิโอ ประกอบกับในปัจจุบันร้านอาหารมีหลายเซกเมนต์ จึงทำให้มีผู้ประกอบการแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีการแข่งขันสูงขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดรวมร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมีมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท เติบโต 5% ขณะที่ก่อนหน้าโควิดมีมูลค่า 30,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดร้านอาหารเกาหลียังน้อยกว่าญี่ปุ่นอีกมาก
โดยที่อาหารญี่ปุ่นในเครือของซีอาร์จีถือว่าดึงลูกค้าและยอดขายกลับมาได้ 90% แล้วหลังจากโควิดเริ่มคลี่คลาย
ขณะนี้แนวโน้มตลาดร้านอาหารที่กลับมาคึกคักขึ้น กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นจึงพร้อมเดินหน้าธุรกิจเต็มพิกัด ด้วยกลยุทธ์สร้างการเติบโต การปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เพิ่มช่องทางการขายมากขึ้น พัฒนาเมนูใหม่ๆ รวมถึงเร่งขยายพอร์ตโฟลิโอ โดยตั้งเป้าปี 2565 กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นจะสามารถสร้างการเติบโตมากกว่า 35% ซึ่งปีนี้มีการเปิดสาขาใหม่รวมกันทุกแบรนด์ทุกโมเดลมากกว่า 40 สาขา
กลยุทธ์หลักๆ คือ การพัฒนาเมนูใหม่ๆ เพื่อส่งมอบความอร่อยหลากหลายเมนู และเข้าถึงทุกช่วงโอกาส การเพิ่มความวาไรตีทางด้านเมนู เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มอายุ และทุกไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงการนำนวัตกรรมต่างๆ มาพัฒนาต่อยอด และนำเสนอเมนูใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า สามารถสร้างความน่าสนใจ แปลกใหม่ ในขณะเดียวกัน ยังเพิ่มเติมในส่วนของสินค้าในกลุ่มพรีเมียม เพื่อเพิ่มทางเลือก และเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน (RTE) ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของร้านค้า ประกอบกับการขยายตัวของชุมชนเมืองที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเน้นการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบและต้องการความสะดวกสบาย สามารถซื้อรับประทานหรือทำกินเองได้ที่บ้าน จึงพัฒนาและต่อยอดเมนูสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน และสินค้าอาหารพร้อมปรุง (Ready to eat / Ready to cook) โดยสามารถซื้อรับประทาน หรือทำกินเองที่บ้านได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ราคาย่อมเยา เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย แต่ยังคงได้ความอร่อยเสมือนรับประทานที่ร้าน
อีกทั้งการแตกไลน์ใหม่ๆ ของแบรนด์โอโตยะ ซึ่งได้เริ่มเมื่อต้นปีนี้ที่ได้เปิดโอโตยะคาเฟ่ด้วย โดยเริ่มเปิดสาขาแรกคือที่สยามพารากอน ซึ่งจะเป็นการจัดมุมตกแต่งเป็นมุมคาเฟ่ในร้านอาหารโอโตยะเดิม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี โดยส่งผลให้สาขาสยามพารากอนมียอดขายขนมหวานเพิ่มสัดส่วนเป็น 8% จากเดิมยอดขายขนมมีเพียงแค่ 1% เท่านั้นเอง และทั้งหมดส่งผลให้ยอดขายรวมขนมหวานของโอโตยะทุกสาขาเพิ่มเป็น 4% ทั้งนี้มีแผนที่จะขยายมุมคาเฟ่อีกไม่ต่ำกว่า 2 สาขาในร้านโอโตยะเดิมในปีหน้า
ทั้งหมดท้ังมวล คือการเคลื่อนทัพอย่างน่าสนใจและน่าติดตามของกลุ่มอาหารญี่ปุ่นที่ต้องพ่วงอาหารเกาหลีเข้าไปด้วยของซีอาร์จี