ศึกชิง "กากอ้อย" 3 หมื่นล้านบาทระหว่างโรงงานกับชาวไร่อ้อยทำระบบร้าวหนัก หลังโรงงานยื่นลาออก "กอน." ส่งผลลูกจ้างกองทุนอ้อยฯ กว่า 400 ชีวิตเคว้งส่อไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเดือนที่ 2 หาก พ.ย.ยังไม่ชัดเจนเหตุต้องอาศัยมติ "กอน." พิจารณาจัดสรร จับตาโรงงานส่ง 7 รายชื่อเข้าร่วม "กอน." ชั่วคราวท่ามกลางโรงงานบางส่วนไม่เห็นด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายกำลังก้าวสู่วิกฤตเมื่อความขัดแย้งระหว่างโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยบานปลายหลังจากที่ตัวแทนโรงงานในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้ลาออกเพื่อประท้วงแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับแก้ไข ที่มีการเพิ่ม “กากอ้อย” ในบทนิยามในผลพลอยได้ เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์นำมาแบ่งปันรายได้ส่งผลให้ กอน.ไม่สามารถประชุมเพื่อเดินหน้านโยบายต่างๆและภายในสิ้น พ.ย.นี้ยังคงไม่มีการประชุมจะทำให้ลูกจ้างกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กว่า 400 คนไม่ได้รับเงินเดือนติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง
“กอน.จะต้องพิจารณางบประมาณให้กับกองทุนฯ ประจำปีที่จะต้องเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. แต่เมื่อ กอน.ไม่ครบองค์ประชุมจึงไม่สามารถประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ ได้ซึ่งรวมถึงการจัดสรรเงินให้กับกองทุนฯ ปีต่อปีซึ่งเป็นการเก็บจากค่าธรรมเนียมการวิจัย และการหักเงินค่าอ้อยตันละ20บาทดังนั้นทำให้ลูกจ้างกองทุนฯ ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดไม่ได้เงินเดือนมาแล้ว 1 เดือนและสิ้น พ.ย.นี้ยังไม่สามารถประชุมได้ก็จะเป็น 2 เดือน และสิ่งที่กังวลคือที่สุดกองทุนฯ อาจถูกยุบลงจากปัญหาขัดแย้งนี้” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุดฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายได้ส่งรายชื่อผู้แทนที่จะเข้ามายังนั่งเป็นกรรมการใน กอน.ชั่วคราวแล้วจำนวน 7 รายได้แก่ 1. นายผรินทร์ อมาตยกุล 2. นายพีรย์พล ชินธรรมมิตร์ 3. นายสมชาย สุวจิตตานนท์ 4. นายประยูร เจนลาภวัฒนกุล 5. นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ 6. นายวิรัตน์ ทวีปิยมาภรณ์ และ 7. นางสาวณิชา อัษฎาธร ขณะที่กรรมการบางส่วนที่ครบวาระก็มีการส่งรายชื่อมาแล้วเช่นกัน ซึ่งรายชื่อดังกล่าวได้เสนอไปยังนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วซึ่งขั้นตอนจะต้องเสนอต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเห็นชอบ และรวมถึง รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ รมว.พาณิชย์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงงานจะมีการส่งรายชื่อเข้ามาแต่ฝ่ายโรงงานเองก็ขัดแย้งกันเอง โดยอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าเป็นมติของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลไปแล้วในการลาออกจาก กอน.และคณะทำงานทุกชุดจึงไม่เห็นด้วยกับการส่งตัวแทนเข้ามา แต่บางส่วนเห็นว่าต้องเดินหน้าเพื่อที่จะเปิดหีบอ้อยที่จะมาถึงจึงทำให้ระบุว่าเป็นการส่งตัวแทนมาเป็นเพียงชั่วคราวซึ่งคงต้องติดตามกันในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
“ความขัดแย้งเริ่มต้นมาจากร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ที่รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ได้นำกากอ้อยรวมเป็นผลพลอยได้ในการนำมาแบ่งเป็นในระบบ 70:30 ซึ่งโรงงานเห็นว่าไม่สมควรด้วยเพราะกากอ้อยที่ได้โรงงานนำไปเผาทำความร้อนเพื่อเพิ่มความขาวน้ำตาลทรายดิบให้เป็นน้ำตาลทรายขาวแต่ละโรงก็มีน้อยมากต่างกันไป บางโรงก็ลงทุนทำโรงไฟฟ้าชีวมวลขายไฟให้รัฐ นำไปผลิตเยื่อกระดาษ และอื่นๆ โดยโรงงานต้องลงทุนเองทั้งหมดแต่ชาวไร่กลับมาขอแบ่งกำไรส่วนนี้ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่ากากอ้อยในฤดูหีบปี 2565/66 จะมีมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท ปัญหานี้หากไม่เร่งแก้ไขเชื่อว่าจะทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” แหล่งข่าวกล่าว