57 โรงงานน้ำตาลจ่อส่งตัวแทนเข้าร่วม 5 บอร์ดบริหารภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ชั่วคราวหลังลาออกแสดงจุดยืนค้าน "กากอ้อย" เป็นผลพลอยได้ หวังเดินหน้าตกลงเปิดหีบอ้อยที่อาจเป็นปลาย พ.ย.หรือต้น ธ.ค.นี้หลังน้ำท่วมภาคอีสานยังไม่พร้อม จับตาต้นทุนการผลิตพุ่งส่อกดดัน "กอน." ขยับราคาหน้าโรงงานเพิ่ม ชาวไร่หนุนดึงเงินที่เพิ่มเข้ากองทุนฯ เพื่อดูแลเสถียรภาพราคา
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ฝ่ายโรงงานน้ำตาลที่เป็นตัวแทน 57 โรงงานได้ยื่นลาออกจากคณะกรรมการ 5 ชุดภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายก่อนหน้านี้เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการกำหนด "กากอ้อย" ในคำนิยามผลพลอยได้ใน พ.ร.บ.อ้อยฯ ฉบับใหม่ ล่าสุดได้หารือกับทุกฝ่าย โดยภายใน 1-2 สัปดาห์นี้โรงงานจะส่งตัวแทนเข้าไปร่วมในคณะกรรมการ 5 ชุดชั่วคราวเพื่อที่จะสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศต่อไปโดยเฉพาะการกำหนดวันเปิดหีบอ้อย การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 65/66 และขั้นสุดท้ายปี 64/65 การบริหารทั่วไปเช่นงานบุคคล เป็นต้น
“เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีการทยอยเปิดหีบได้ในช่วงต้นธันวาคมนี้แม้ว่าก่อนหน้าจะมีการมองไว้ที่ 23 พ.ย. แต่เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายในภาคอีสานบางส่วนประสบภาวะน้ำท่วม จำเป็นต้องกำหนดวันเปิดหีบที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมโดยจะต้องหารือในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อหาข้อยุติ โดยปริมาณอ้อยฤดูหีบปี 65/66 จะมากกว่าฤดูหีบปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 92.07 ล้านตัน” นายชลัสกล่าว
อย่างไรก็ตาม โรงงานมีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขณะนี้ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ราว 21 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) สูงกว่าราคาหน้าโรงงานของไทยที่ราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาและทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ระดับ 17.25-18.25 บาทต่อ กก. จึงทำให้เกิดส่วนต่างจูงใจในการออกไปตามชายแดนเพื่อจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาแพงทำให้ช่วงนี้เริ่มเกิดการตึงตัวแม้ปัญหานี้อาจคลี่คลายได้หลังเปิดหีบ แต่หากพิจารณาถึงภาวะต้นทุนการผลิตโรงงานและชาวไร่อ้อยในฤดูหีบใหม่ (ปี 65/66) ทั้งค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ราคาพลังงาน ค่าปุ๋ย สารเคมี รวมถึงราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ทรงตัวระดับสูงจะส่งผลต่อการคำนวณต้นทุนการผลิตรวมของฤดูใหม่ปรับเพิ่มขึ้น
“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นระบบเสรีแล้ว ที่ผ่านมาราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 17.25-18.25 บาทต่อ กก. ที่เป็นราคาที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนการผลิตที่ผ่านมา แต่เวลานี้ยอมรับว่าต้นทุนสูงขึ้นราคาดังกล่าวก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ดังนั้นคงต้องหารือใน กอน.เพื่อสรุปแนวทางที่ต้องคำนึงถึงในหลายๆ ปัจจัย” นายชลัสกล่าว
หวังขยับราคาหน้าโรงงานดึงเงินใส่กองทุนฯ
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งเรื่องกากอ้อย ชาวไร่อ้อย โรงงานและรัฐได้หารือระดับหนึ่งถึงต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยที่สูงขึ้นมากจากปุ๋ย น้ำมัน ค่าแรงงาน จำเป็นที่จะต้องทบทวนต้นทุนการผลิตที่ยึดตามสูตรราคา Cost Plus ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งยอมรับว่าต้นทุนที่สูงขึ้นก็ต้องทบทวนราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ โดยได้เสนอให้การปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานแล้วนำเงินที่ได้ทั้งหมดไปใส่ไว้ในกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เช่นอดีตที่เคยทำเพื่อนำเงินมาสร้างเสถียรภาพราคาลักษณะเดียวกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวต้องให้ กอน.สรุปข้อยุติ
“การเปิดหีบก็จะต้องมาดูความเหมาะสมว่าจะเป็นช่วงปลาย พ.ย.นี้หรือต้น ธ.ค.ในที่ประชุม กอน.เป็นสำคัญเพราะต้องดูข้อมูลจากทุกฝ่าย ส่วนอ้อยแม้บางส่วนจะเจอน้ำท่วมแต่พบว่าเสียหายไม่มากทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 65/66 น่าจะอยู่ในระดับ 106 ล้านตันตามที่คณะกรรมการอ้อย (กอ.) คาดการณ์ไว้” นายนราธิปกล่าว
นายบุญถิ่น โคตรศิริ ที่ปรึกษาบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ราว 18-19 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยยังคงเป็นระดับที่ทรงตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อนท.ได้เสนอขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าในส่วนของ อนท. 8 แสนตันฤดูผลิตปี 65/66 แล้ว 53% เฉลี่ยราคา 20.05 เซ็นต์ต่อปอนด์ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
“น้ำตาลตลาดโลกที่ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนแต่ปีนี้บาทอ่อนค่าการส่งออกจะทำให้รายได้รูปเงินบาทเพิ่มขึ้น แต่หากมองในแง่ของต้นทุนชาวไร่และโรงงานภาพรวมก็สูงขึ้นตาม ดังนั้นกรณีที่จะมีการปรับเพิ่มราคาหน้าโรงงานก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกันแต่ก็ต้องอยู่ที่ กอน.จะตัดสินใจ” นายบุญถิ่นกล่าว