สนข.กางไทม์ไลน์ “แลนด์บริดจ์” ชง ครม.เคาะหลักการ ธ.ค.นี้ เดินหน้าโรดโชว์นักลงทุนต่างชาติไตรมาส 1/66 พร้อมเร่งร่าง พ.ร.บ. SEC คาด มิ.ย. 66 ชง ครม.และสภาฯ เห็นชอบ ดันเปิดประมูลปี 68 ก่อสร้าง 5 ปี เปิดเฟสแรกในปี 73 รับ 20 ล้านทีอียู
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (Landbridge) นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 (Focus Group ครั้งที่ 1) ในพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร เพื่อนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าของการศึกษาและสาระสำคัญของโครงการ เช่น พื้นที่ตั้งของท่าเรือ แนวเส้นทางและทางเข้าท่าเรือ ตลอดจนแนวเส้นทางของโครงการ และเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ
ทั้งนี้ ไทม์ไลน์โครงการคาดว่าจะสามารถนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอความเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการได้ในปี 2566 หลังจาก ครม.เห็นชอบ คาดว่าในไตรมาสที่ 1/2566 จะเสนอโครงการต่อนักลงทุนในต่างประเทศ (RoadShow) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะของผู้ที่สนใจ ซึ่งที่ผ่านมามีสายเดินเรือขนาดใหญ่ระดับท็อป 5 ของโลกให้ความสนใจหลายราย
ไตรมาส 2/2566 สนข.จะนำประเด็นและข้อเสนอแนะจากผู้สนใจลงทุนมาดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดโครงการ และปรับรูปแบบการวิเคราะห์โครงการฯ และจะนำเสนอข้อมูลโครงการ รูปแบบการดำเนินโครงการ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมต่อ ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการได้ในเดือนมิถุนายน 2566
@เร่งร่าง พ.ร.บ. SECอและ RFP คาดเปิดประมูลต้นปี 68
นายปัญญากล่าวว่า ปัจจุบัน สนข.ยังดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ โดยจะมีการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ในลักษณะเดียวกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วย โดยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.SEC พร้อมเงื่อนไข สิทธิประโยชน์เพื่อให้ครม.เห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2566 พร้อมกับการเสนอขออนุมัติโครงการฯ
ระหว่างดำเนินการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อเป็นหน่วยงานในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ในลักษณะเดียวกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจะเสนอ ครม.เห็นชอบในหลักการภายในปี 2565 และเสนออนุมัติ พ.ร.บ.ดังกล่าวภายใน มิ.ย. 2566 ซึ่งดำเนินการควบคู่กับการเสนอขออนุมัติโครงการฯ
และหลังจาก ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.SEC จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะอยู่ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567 ซึ่งในระหว่างนี้จะมีการจัดทำ RFP เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยจะเปิดประมูลภายในไตรมาส 1 ปี 2568 และคาดว่าจะลงนามสัญญาผู้ร่วมลงทุนฯ ได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2568 และเริ่มการก่อสร้างภายในปี 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในระยะแรกในปี 2573
@เทียบลงทุนใกล้เคียงท่าเรือ ทูอัส ของสิงคโปร์เฟสแรก รับ 20 ล้านทีอียู
สำหรับการศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) มีวงเงิน 67 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 30 เดือน (2 มีนาคม 2564-1 กันยายน 2566) โดยจะมีการศีกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ, การเงิน วิศวกรรม สังคม, ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม, จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562, วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน ((Business Development Model)
โดยการศึกษาจะมีพัฒนาท่าเรือสองฝั่งทะเลอันดามัน และระนอง โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกัน เป็นระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) MR8 ระยะทางรวม 89.35 กม. ตามแนวเส้นทางจะมีอุโมงค์จำนวน 3 แห่ง (ระยะทางอุโมงค์รวม 21 กม.)
การพัฒนาท่าเรือ 2 แห่ง พบว่าจุดที่เหมาะสม ฝั่งอันดามันอยู่ที่แหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ส่วนฝั่งอ่าวไทย อยู่ที่แหลมริ่ว จังหวัดชุมพร โดยแต่ละท่าเรือจะพัฒนาเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 มีขีดความสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 20 ล้านทีอียู และระยะที่ 2 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 20 ล้านทีอียู รวมรองรับปริมาณตู้สินค้าฝั่งละจำนวน 40 ล้านทีอียู
โดยเป็นท่าเรือที่ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ ขนส่งตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสร้างความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจกับชุมชนรอบท่าเรือ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับท่าเรือ TUAS ประเทศสิงคโปร์ ที่มีการพัฒนาในระยะที่ 1 รองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 20 ล้านทีอียูเช่นกัน
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง มีระยะทางรวม 109 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งมีรูปแบบการก่อสร้างในลักษณะอุโมงค์ ระยะทาง 21 กม. โดยมีจุดเริ่มต้นที่ท่าเรือแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ฝั่งอ่าวไทย ผ่านแนวเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 89.35 กม. และมีจุดสิ้นสุดที่ท่าเรืออ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ฝั่งอันดามัน