xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” หารือ "ทูตออสเตรเลีย" ร่วมมือพัฒนาบุคลากรเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” หารือ "ทูตออสเตรเลีย" ร่วมมือพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันนโยบายการขนส่งที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เผยระยะแรกมุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากร และศึกษาจัดทำแผนที่นำทางเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะจากน้ำมันสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ ดร.แอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ (H.E. Dr. Angela Jane Macdonald) เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง และหารือประเด็นความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับออสเตรเลีย โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้แทนกองการต่างประเทศ และสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมหารือ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเครือรัฐออสเตรเลีย ต่างมุ่งมั่นและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการดำเนินโครงการ Project on Expanding Transport Cooperation through Partnerships for Infrastructure and the Ministry of Transport (P4I - MOT) มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2565-2567) ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้ดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าแห่งประเทศออสเตรเลีย


โดยในระยะแรกทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร (Capacity Building Program) และการศึกษาและจัดทำแผนที่นำทางในการเปลี่ยนผ่านการปรับเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะจากรถโดยสารที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (Roadmap to Transition Public Buses to Electric Vehicles) ซึ่ง สนข.อยู่ระหว่างร่วมดำเนินการศึกษากับฝ่ายออสเตรเลีย และต่อยอดการดำเนินโครงการ P4I - MOT ในพื้นที่นำร่องเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ และจะพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

ในการหารือครั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอข้อมูลโครงการที่ฝ่ายออสเตรเลียให้ความสนใจในด้านระบบรางและโครงสร้างพื้นฐานของไทย รวมถึงการแสวงหาโอกาสการร่วมลงทุนของภาคเอกชนออสเตรเลียในโครงการสำคัญต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมที่ครอบคลุมทุกโหมดการเดินทาง (บก ราง น้ำ อากาศ) ได้แก่ การพัฒนารถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail) การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ การเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งทางรางระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน การเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งทางรางระหว่างไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย-อันดามัน (Land Bridge ชุมพร-ระนอง) และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานต่างๆ รวมถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญของไทย

โดยเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยยืนยันในความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในทุกด้าน ทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคี อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกันพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน








กำลังโหลดความคิดเห็น