xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” มอบรางวัล 10 สถานีดีพร้อม "รถไฟ-รถไฟฟ้า" ยกระดับมาตรฐานบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



10 สถานีรถไฟ-รถไฟฟ้ารับรางวัล “สถานีดีพร้อม” ปี 2565 กรมรางเผยเกณฑ์บริการดีมีมาตรฐาน สถานที่สะอาด ปลอดภัย “ศักดิ์สยาม” ชี้เป็นการพัฒนาบริการ หวังต่อยอดพัฒนาเป็นแลนด์มาร์กท่องเที่ยวช่วยสร้างเม็ดเงินเพิ่ม หนุนระบบรางทางเลือกเดินทาง ลดต้นทุนโลจิสติกส์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล “สถานีดีพร้อม” ประจำปี 2565 ว่า การประกวดสถานีดีพร้อมไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นการพัฒนาบริการร่วมกัน ซึ่งสถานีรถไฟแต่ละแห่งนั้นจะมีอัตลักษณ์ และมีบริการที่ดี สะดวก ปลอดภัย สะอาด มีมาตรฐาน และขอให้พัฒนาเพื่อเป็นแลนด์มาร์กเพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในอนาคตด้วย ซึ่งหน่วยงานและผู้ให้บริการขนส่งทางรางทุกระบบ ต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเป็น “สถานีดีพร้อม” ที่มีคุณภาพมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัยในระดับสากล

ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กระทรวงคมนาคมจะเป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนการคมนาคมขนส่งทั้ง 4 มิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน รวมถึงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนเพื่อทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น

นโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มุ่งมั่นพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เป็นระบบหลักในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ โดยได้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางรางสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในส่วนของรถไฟฟ้าในเขตเมือง รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งมีนโยบายในการยกระดับคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยในระบบขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มุ่งสู่มาตรฐานสากล และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางในภูมิภาคต่อไป

การใช้บริการระบบขนส่งทางราง


นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า จากผลการจัดกิจกรรมการประกวด “สถานีดีพร้อม” มีสถานีรถไฟเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 43 สถานี แบ่งเป็น กลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง จำนวน 28 สถานี และกลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศ จำนวน 15 สถานี ซึ่งการพิจารณาตัดสินรางวัลในครั้งนี้ได้ใช้เกณฑ์การประเมิน 8 ด้าน ประกอบด้วย

1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น การให้บริการที่จอดรถ ทางเข้า-ออก ในการรองรับการใช้บริการ การจำหน่ายบัตรโดยสาร
2) ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) เช่น การเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น
3) ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์ (Information) เช่น ป้ายบอกทิศทางในสถานี การติดประกาศ/การให้ข้อมูลในการเดินทาง
4) ด้านความปลอดภัย (Safety and Security) เช่น มาตรการป้องกัน COVID-19 การติดตั้งกล้องวงจรปิด ไฟส่องสว่าง หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทางออกฉุกเฉิน
5) ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก (Comfort) เช่น ห้องน้ำ ร้านค้า/อาหาร/เครื่องดื่ม ความสามารถในการรองรับผู้มาใช้บริการ
6) ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
7) ด้านการให้บริการ (Customer Care) เช่น กิริยามารยาทและความสุภาพของเจ้าหน้าที่
8) ด้านสุนทรียภาพ (Aesthetic) เช่น สุนทรียภาพ อัตลักษณ์ หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมของสถานี


ผลการตัดสินสถานีที่ได้รับรางวัล กลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สถานีเชียงใหม่ รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ สถานีชุมทางหาดใหญ่ รางวัลชมเชย ได้แก่ สถานีนครราชสีมา สถานีบุรีรัมย์ และสถานีศรีสะเกษ
กลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สถานีเพชรบุรี (BL21) รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ สถานีหมอชิต (N8)รางวัลชมเชย ได้แก่ สถานีสุขุมวิท (BL22) สถานีลาดพร้าว (BL15) และสถานีแยก คปอ. (N23)

สถานีที่ได้รับรางวัลทั้ง 10 สถานี นับเป็นต้นแบบของสถานีดีพร้อม ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานการบริการและความปลอดภัยสู่มาตรฐานระดับสากล และนับเป็นความสำเร็จก้าวแรกของกิจกรรมการประกวดสถานีดีพร้อม หนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล เพิ่มศักยภาพในการให้บริการ และการเข้าถึงระบบรางได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย มีรอยยิ้มและมีความสุข


กำลังโหลดความคิดเห็น