xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ลุยแผน W-MAP ขยายเดินเรือ 8 เส้นทาง เพิ่มจุดเชื่อมต่อ "ล้อ-ราง-เรือ" ชง 'คมนาคม' เคาะต้นปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนข.เปิดแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ (W-MAP) ระยะ 10 ปี ขยายเดินเรือ 8 เส้นทาง เพิ่มจุดเชื่อมต่อ "ล้อ-ราง-เรือ" เป็น 40 จุด งบ 5.5 พันล้านบาท คาดต้นปี 66 ชง "คมนาคม" อนุมัติ หวังประชาชนหันใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่ม

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (W-MAP) พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจท่าเรือพระนั่งเกล้าจุดเชื่อมต่อการเดินทางล้อ ราง เรือ ว่า สนข.ได้ทำการศึกษาและสำรวจรายละเอียดเส้นทางการเดินเรือเพื่อเพิ่มเส้นทางการเดินทางทางน้ำ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดทางถนน และอยู่ระหว่างการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อทุกหน่วยงานเห็นชอบกับแนวทางในแผนการพัฒนาแล้ว คาดว่าจะสรุปแผนนำเสนอแผนให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติในไตรมาส 1 ปี 2566 จากนั้นจะมอบหมายแผนงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติ

โดยแผนการพัฒนาการเดินทางทางน้ำเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้เป็นไปตามแผน มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด ปลอดภัย จะจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบราง เชื่อมต่อเรือ ช่วยลดการใช้รถ ซึ่งจะทำให้รถติดน้อยลง อุบัติเหตุลดลง และ PM 2.5 ลดลง

สำหรับท่าเรือพระนั่งเกล้า ซึ่งจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงนั้น กับเรือ ก่อนเกิดโควิด-19 มีผู้โดยสารใช้รางต่อเรือ ประมาณ 700 คนวัน ขณะที่ปัจจุบันมีประมาณ 300 คนต่อวัน โดยป้ายรถประจำทางอยู่ห่างจากท่าเรือประมาณ 550 เมตร นอกจากนี้ จะต้องปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม โดย สนข.ได้บูรณาการร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อจัดจุดจอดรถ บขส. เส้นทางกรุงเทพฯ-สุพรรณบุรีที่วิ่งผ่านเพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารให้สะดวกมากที่สุด คาดว่าจะเปิดให้รถ บขส.จอดรับ-ส่งได้ในช่วงต้นปี 2566

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าปัจจุบันเส้นทางการเดินทางทางน้ำมีจำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 65.4 กิโลเมตร มีท่าเรือทั้งสิ้น 103 แห่ง มีจุดเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบล้อ-ราง-เรือจำนวน 8 จุด ประกอบด้วย ท่าเรือในคลองแสนแสบ 3 แห่ง ได้แก่ 1. ท่าเรือรามหนึ่ง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ สถานีรามคำแหง

2. ท่าเรืออโศก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีเพชรบุรี และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่สถานีมักกะสัน

3. ท่าเรือสะพานหัวช้าง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวอ่อน ที่สถานีราชเทวี และบีทีเอสสายสีเขียวเข้ม ที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ

คลองผดุงกรุงเกษม 1 แห่ง คือ ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีหัวลำโพง

แม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง ได้แก่ 1. ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า เชื่อมกับ MRT สายสีม่วง ที่สถานีสะพานพระนั่งเกล้า 2. ท่าเรือบางโพ เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงินที่สถานีบางโพ 3. ท่าเรือราชินี เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงินที่สถานีสนามไชย 4. ท่าเรือสาทร เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวเข้มที่สถานีสะพานตากสิน


ผอ.สนข.กล่าวว่า ผลศึกษาพัฒนาการเดินทางทางน้ำ (W-Map) เพิ่มเติม ระยะ 10 ปี พ.ศ. 2565-2575 มีเป้าหมายขยายเส้นทางทางน้ำเพิ่มขึ้น 131.2 กิโลเมตร ท่าเรือเพิ่มขึ้น 97 ท่าเรือ และมีจุดเชื่อมต่อการเดินทางล้อ-ราง-เรือ จำนวน 40 จุด (ปัจจุบันมี 8 จุด พัฒนาเพิ่ม 32 จุด) ใช้วงเงินดำเนินการรวมประมาณ 5,500 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น (ปี 2565-2570) จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 74.3 กิโลเมตร พัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ เพิ่มจำนวน 26 จุดคาดใช้งบประมาณ 3,400 ล้านบาท

ประกอบด้วย
S1 : เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบส่วนต่อขยายช่วงวัดศรีบุญเรืองถึงถนนสุวินทวงศ์ ระยะทาง 12 กิโลเมตร จำนวน 16 ท่าเรือ

S2 : เส้นทางเดินเรือในคลองบางลำพู ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงป้อมพระสุเมรุ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร จำนวน 3 ท่าเรือ

S3 : เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหมถึงพระโขนง ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร จำนวน 23 ท่าเรือ

S4 : เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์ ช่วงประตูน้ำมหาสวัสดิ์ถึงวัดชัยพฤกษมาลา ระยะทาง 28 กิโลเมตร จำนวน 13 ท่าเรือ

S5 : เส้นทางเดินเรือในคลองบางกอกน้อย ช่วงวัดชะลอถึงศิริราช ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร จำนวน 11 ท่าเรือ


ระยะยาว ปี พ.ศ. 2571-2575 ระยะทางรวม 56.9 กิโลเมตร พัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางล้อ-ราง-เรือ เพิ่มจำนวน 6 จุด คาดใช้งบประมาณ 2,100 ล้านบาท ประกอบด้วย

L1 : เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยายช่วงปากเกร็ดถึงที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 3 ท่าเรือ

L2 : เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร ช่วงวัดรังสิตถึงบางซื่อ ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร จำนวน 20 ท่าเรือ

L3 : เส้นทางเดินเรือในคลองประเวศบุรีรมย์ส่วนต่อขยาย ช่วงตลาดเอี่ยมสมบัติถึงวัดสังฆราชา ระยะทาง 21.4 กิโลเมตรจำนวน 8 ท่าเรือ

คาดว่าเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะทำให้มีการใช้บริการเพิ่มขึ้น 36.57% จากจำนวน 61,129 คนต่อวัน ในปี 2565 โดยคาดการณ์ในช่วง 5 ปีแรกเพิ่ม 8.06% และเพิ่มเป็น 36.57% ใน 10 ปี

นอกจากนี้ ยังได้มีการศึกษาเพื่อเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในแต่ละท่าเรือ เช่น ป้ายแนะนำเส้นทาง แนะนำการเดินทาง โครงสร้างหลังคาคลุมทางเดินต่างๆ หรือที่จอดรถ สำหรับ ขสมก. รถ บขส. เพิ่มเติม เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น