xs
xsm
sm
md
lg

BGRIM ทุ่ม 358 ล้านฮุบหุ้น 49% โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บี.กริม เพาเวอร์ ควัก 358.23 ล้านบาทลงทุนถือหุ้น 49% ใน Lohas ECE Spain Gifu Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กําลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนผลประกอบการไตรมาส 3/65 ขาดทุนสุทธิ 529.33 ล้านบาท เหตุราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นถึง 107.9% ส่งผลกระทบต่อธุรกิจกลุ่มลูกค้า IU ในประเทศไทย

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) เปิดเผยว่า B.Grimm Power Korea Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บี.กริม เพาเวอร์ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ได้เข้าลงทุนใน Lohas ECE Spain Gifu Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กําลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ที่ประเทศญี่ปุ่น ในสัดส่วนร้อยละ 49 ของหุ้นที่จําหน่ายได้แล้วทั้งหมด ภายใต้เงินลงทุน 1,400,000,000 เยนญี่ปุ่น หรือเทียบเท่าประมาณ 358.23 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน

ส่วนผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2565 BGRIM ขาดทุนสุทธิ 529.33 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 447.47 ล้านบาท โดยไตรมาส 3/2565 บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 56.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วยให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มขึ้นจากกลไกการส่งผ่านค่าเชื้อเพลิงตามราคาก๊าซธรรมชาติ และการขึ้นค่า Ft รวมทั้งการเติบโตอย่างต่อเนื่องของปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) ในประเทศจากลูกค้ารายใหม่ จำนวน 33.4 เมกะวัตต์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 และบริษัทมีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นให้แก่ลูกค้า IU ในประเทศเวียดนาม หลังจากการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 3 ปีก่อน และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ ในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2564

ด้านกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 25 ล้านบาท ลดลง 95.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติถึง 107.9% ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจกลุ่มลูกค้า IU ในประเทศ ซึ่งคิดเป็น 18% ของรายได้รวม

ส่วนงวด 9 เดือนแรกปีนี้บริษัทขาดทุนสุทธิ 699.20 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,080.41 ล้านบาท

“ลูกค้าอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัจจัยหลักของรายได้ที่เติบโตขึ้น ทั้งจำนวนลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น ราคาค่า Ft ที่ทยอยปรับขึ้น และปริมาณไฟฟ้าที่ขายแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้า IU ในประเทศช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 3.7% เป็น 2,581 กิกะวัตต์-ชั่วโมง บี.กริม เพาเวอร์ ยังคงขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีลูกค้ารายใหม่เชื่อมเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประมาณ 50-60 เมกะวัตต์ในปี 2566” นายฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

ส่วนปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าของ บี.กริม เพาเวอร์ คือ การปรับขึ้นของค่า Ft โดยในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 กกพ.ได้ประกาศปรับขึ้นอีก 0.6866 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 0.9343 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง บวกกับการเข้าซื้อกิจการอื่นๆ ในพอร์ตการลงทุน การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูง การขยายฐานลูกค้า IU อย่างต่อเนื่อง และการควบคุมค่าใช้จ่าย 

นอกจากนี้ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้ร่วมกับ แอร์ ลิควิด (ประเทศไทย) ลงนามสัญญาซื้อขายการรับรองสิทธิพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ซึ่งข้อตกลงของการรับรองดังกล่าวนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสนับสนุนรูปแบบการจัดหาพลังงานอย่างยั่งยืนสำหรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปีนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังเดินหน้าขยายความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เมื่อเดือนกันยายน 2565 Cleanergy ABP บริษัทร่วมของ อมตะ บี.กริม เพาเวอร์, SCG Cleanergy และ Amata Corporation ได้ร่วมลงนามสัญญาพันธมิตรทางธุรกิจกับ Amata Facility Services เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดสำหรับผู้ผลิตอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรม อมตะ ซิตี้ และเมื่อเดือนมิถุนายน บี.กริม เพาเวอร์ และ EDL-Gen บริษัทย่อยของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricité Du Laos - EDL) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อร่วมขยายการพัฒนาธุรกิจไฟฟ้า ประเภทพลังน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ระบบส่งและการจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดในเขตภูมิภาคอาเซียน

ส่วนความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปีนี้มีอีกหลายโครงการ ประกอบด้วย การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP 4 โครงการ (ABP1R, ABP2R และ BGPM1&2R) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม กำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 560 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 91-98% มีกำหนดการ COD ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่อีก 2 โครงการ (BGPAT2 และ BGPAT3) กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 280 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 48-66% มีกำหนดการ COD ในปี 2566 และการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน อู่ตะเภา เฟสแรก มีความคืบหน้า 78% มีกำหนดการ COD ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566


กำลังโหลดความคิดเห็น