xs
xsm
sm
md
lg

ดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ชง "คมนาคม" ม.ค. 66 สนข.เร่งทำ CCH ศูนย์รายได้กลาง ปี 70 บัตรใบเดียวใช้ขนส่งมวลชนได้ทุกระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนข.ชง "คมนาคม" เคาะร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ม.ค. 66 เร่งประกาศใช้ช่วงปลายปี เตรียมของบปี 67 อีกราว 1,600 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษา ทำงานระบบ CCH คาดตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางเสร็จปี 70 ใช้อัตราค่าโดยสารร่วมมาตรฐานเดียว แจ้งเกิดระบบตั๋วร่วมบัตรใบเดียว ลดค่าโดยสารข้ามระบบ

นางสาวกรุณา เนียมเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้จัดสัมมนา “โครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม” ครั้งที่ 3 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมให้สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยที่ปรึกษาได้นำเสนอผลการศึกษาแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา และร่วมกันเสนอแนะข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้การกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมมีประสิทธิผลและสามารถขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติได้จริง และจะสรุปแผนกำกับนำเสนอคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานเห็นชอบต่อไป


โดยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมมีองค์ประกอบหลายส่วน ได้แก่ พระราชบัญญัติการบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. , กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม, เทคโนโลยีในการบริหารระบบ และศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง หรือ CCH โดยปัจจุบัน สนข.อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. ซึ่งคาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ในเดือน ม.ค. 2566 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ประมาณปลายปี 2566

ในขณะเดียวกัน สนข.จะเสนอรายละเอียดกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม หารือกับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาในเรื่องแหล่งเงินทุน โดยคาดว่าทุนตั้งต้นประมาณ 1,300-1,500 ล้านบาทต่อปี โดยจะมีทั้งจากงบประมาณ, ส่วนแบ่งรายได้ จากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจด้านการขนส่ง, ส่วนแบ่งรายได้จากผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ารายใหม่ หรือรายเดิมที่สามารถเจรจาส่วนแบ่งกันได้ เพื่อมาชดเชยรายได้ของผู้ประกอบการ จากการลดค่าแรกเข้าและลดค่าโดยสารให้ประชาชนกรณีใช้บริการข้ามระบบ

จากนั้นปลายปี 2567 จะประกาศโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมและค่าธรรมเนียมทางการเงิน ซึ่งจะต้องเจรจากับผู้ให้บริการทั้งหมดเพื่อตกลงอัตราร่วมกัน, ปี 2568 จัดตั้งบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม, ปี 2569 จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม, ปี 2570 ศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง หรือ CCH สมบูรณ์ ประกาศใช้อัตราราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยใช้งานระบบตั๋วร่วมในรูปแบบการผูกกับบัญชีที่ระบุตัวตนผู้โดยสาร หรือ Account-Based Ticketing (ABT) กับระบบรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ และรูปแบบการชำระเงินประเภท Open-loop System และการรองรับระบบ EMV ในการชำระค่าโดยสาร รวมถึงการใช้งานและชำระเงินกับบริการอื่นๆ นอกภาคขนส่ง (Non-Transit)


ในปี 2566 สนข.ได้รับงบประมาณ 40 ล้านบาทในการจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบธุรกิจ ให้คำแนะนำแนวทางต่างๆ และการเจรจาต่อรองต่างๆ มีระยะเวลา 3 ปี (2566-2568) และในปี 2567 จะเสนอของบประมาณ 1,700 ล้านบาท เพื่อจัดจ้างเพื่อจัดทำงานระบบ CCH วงเงินประมาณ 1,300 ล้านบาท และจัดจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานระบบ CCH วงเงินกว่า 300 ล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินการ 2567-2570)


นายสมพงษ์ ปักษาสวรรค์ ผู้จัดการโครงการศึกษาฯ กล่าวว่า ในการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม/อัตราค่าโดยสารเดียว สำหรับระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2565 กำหนดค่าแรกเข้า 14 บาท บวกค่าโดยสาร 2.15 บาท/กม. ปี 2570 ค่าแรกเข้า 14.73 บาท บวกค่าโดยสาร 2.26 บาท/กม. ปี 2575 ค่าแรกเข้า 15.50 บาท บวกค่าโดยสาร 2.37 บาท/กม. ปี 2580 ค่าแรกเข้า 16.30 บาท บวกค่าโดยสาร 2.50 บาท/กม.

โดยเสนออัตราค่าโดยสารแบบมีเพดานสูงสุด 2 ขั้น คือ ค่าแรกเข้า 14 บาท เดินทาง 25 กม.แรก เพดานสูงสุด 42 บาท เดินทางมากกว่า 25 กม. เพดานสูงสุด 65 บาท, ข้อเสนอส่วนลดค่าโดยสารการเดินทางข้ามระบบ ระหว่างรถไฟฟ้าในเมืองกับรถไฟชานเมือง ส่วนลดไม่เกินมูลค่าแรกเข้า, ระหว่างรถไฟฟ้าในเมืองกับรถเมล์ ส่วนลดไม่เกิน 10 บาท, รถไฟฟ้าในเมืองกับเรือโดยสาร ส่วนลดไม่เกิน 10 บาท

สำหรับข้อเสนออัตราค่าธรรมเนียมทางการเงิน (Transaction Fee) ในระบบตั๋วร่วม สำหรับบัตรโดยสาร ABT/Card-Centric ระบบขนส่ง อัตรา 1%, บัตรเดบิตในประเทศ อัตรา 0.55%, บัตรเครดิตในประเทศ อัตรา 0.8%


ในการศึกษา พบว่าปัจจุบันผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใช้เงินสด หรือใช้ตั๋วเที่ยวเดียวประมาณ 30% ดังนั้นเมื่อมีค่าโดยสารร่วม จะเชื่อว่าจะจูงใจให้มีผู้ใช้บริการระบบรางและขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ หลักการจะไม่บังคับผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชน เป็นการขอความร่วมมือในการเข้าระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วม โดยผู้ประกอบการต้องมาเชื่อมต่อเป็นระบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเชื่อมข้อมูลเข้า CCH ในการบริหารจัดการและแบ่งรายได้


กำลังโหลดความคิดเห็น