xs
xsm
sm
md
lg

“ซีพีเอฟ กรีนฟาร์ม” นวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์ ช่วยลดโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ถือเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่รัฐบาลและภาคธุรกิจทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ หนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย คือการมุ่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)

นิวซีแลนด์ ผู้ส่งออกเนื้อสัตว์และปศุสัตว์รายใหญ่ระดับโลก นับเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเตรียมจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซจากฟาร์มปศุสัตว์ รวมไปถึงก๊าซที่เกิดจาก ‘เรอ-อึ-ฉี่’ ของปศุสัตว์ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่รัฐบาลนิวซีแลนด์กำหนดไว้ในปี 2025


สำหรับไทยหากย้อนไปดูความเคลื่อนไหวในภาคปศุสัตว์แล้ว จะเห็นได้ชัดเจนถึงการพัฒนารูปแบบกระบวนการและการนำนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์มาปรับใช้เพื่อตอบโจทย์ “การลดภาวะโลกร้อน” โดยเฉพาะผู้นำเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ผลักดันโมเดลธุรกิจสีเขียว ตามนโยบาย BCG ทั้งการพัฒนากระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำอย่างต่อเนื่อง

มาตรฐานฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม (CPF Greenfarm) คือหนึ่งในโมเดลธุรกิจสีเขียวอันโดดเด่น ด้วยการพัฒนาให้ฟาร์มสุกรของบริษัททั้ง 98 แห่งเป็นต้นแบบฟาร์มรักษ์โลก “เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” พร้อมผลักดันสู่เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ หรือคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งกับบริษัท 


นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เล่าว่า บริษัทดำเนินการตามมาตรฐาน Greenfarm อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ทั้งฟาร์มเลี้ยงสุกรของบริษัทและฟาร์มของเกษตรกร ทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรฐานฯ เดียวกัน โดยมุ่งเน้นการจัดการของเสียภายในฟาร์ม ด้วยระบบ Biogas ที่ส่งผลดีทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ควบคู่กับการทำระบบฟอกอากาศท้ายโรงเรือนเลี้ยงสุกร จึงช่วยลดกลิ่นรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการปลูกไม้ยืนต้นในบริเวณฟาร์มและพื้นที่ว่างระหว่างโรงเรือน ที่ช่วยเพิ่มความร่มรื่นและลดความร้อนให้แก่โรงเรือนสุกรช่วยลดการใช้พลังงานในระบบ EVAP สำหรับทำความเย็นในโรงเรือน


ที่สำคัญ ยังให้ความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการต่อยอดความสำเร็จจากระบบ Biogas ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของกรีนฟาร์ม ที่สามารถผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าได้ถึง 50-80% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 370,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เป็นผลดีทั้งในด้านการประหยัดพลังงานและลดภาวะโลกร้อน


นอกจากนี้ ยังนำระบบโซลาร์เซลล์ มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในฟาร์ม เกิดผลประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดสู่ “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ : SOLAR CELL” ในรูปแบบ “โซลาร์ฟาร์ม” โดยฟาร์มนำร่องที่ได้ติดตั้งและเดินระบบจ่ายไฟฟ้าแล้ว 5 ฟาร์ม ได้แก่ ฟาร์มกาญจนบุรี ฟาร์มวิเชียรบุรี ฟาร์มศรีเทพ ฟาร์มเพชรบูรณ์ และฟาร์มท่าจะหลุง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1.3 เมกะวัตต์ และขยายสู่โครงการเฟส 2 ในอีก 6 ฟาร์ม ได้แก่ ฟาร์มจันทบุรี 1 ฟาร์มหนองคาย ฟาร์มโคกปี่ฆ้อง ฟาร์มคลองอุดม ฟาร์มศิลาทิพย์ และฟาร์มลพบุรี ซึ่งกำลังทำการติดตั้งระบบ รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1.25 เมกะวัตต์ และวางแผนขยายโครงการไปยังฟาร์มอื่นๆ ต่อไป


ขณะเดียวกัน ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟทุกแห่งมุ่งพัฒนากระบวนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่การผลิต ด้วยหลักการ 3Rs คือ “Reduce” ลดปริมาณการใช้น้ำ “Recycle” นำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ และ “Reuse” นำน้ำมาใช้ซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น การนำน้ำที่ออกจากระบบ Biogas และผ่านการบำบัดจนเป็นน้ำที่มีคุณภาพนำกลับมาใช้ ช่วยลดการใช้น้ำดิบจากแหล่งธรรมชาติ และยังนำน้ำมาผ่านการฆ่าเชื้ออีกครั้งสำหรับใช้ล้างโรงเรือน นอกจากนี้ ยังนำน้ำสุดท้ายหลังการบำบัด ที่เรียกว่า “น้ำปุ๋ย” ที่มีธาตุอาหารสำคัญที่เหมาะสมกับต้นพืชกลับไปใช้ประโยชน์ ทั้งรดสนามหญ้า ต้นไม้ และแปลงปลูกผักปลอดสารสำหรับบุคลากรในฟาร์ม พร้อมจัด “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่ชุมชน” ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เพื่อแบ่งปันน้ำให้แก่เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง ช่วยให้พืชเจริญเติบโตเร็ว ได้ผลผลิตคุณภาพดีและมีปริมาณเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ ที่ขอเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ช่วยลดใช้พลังงาน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อชุมชน




ความมุ่งมั่นในการพัฒนาฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีฟาร์มของบริษัทเป็นต้นแบบ แล้วจึงถ่ายทอดความสำเร็จไปสู่ฟาร์มของเกษตรกร ทั้งมาตรฐานกรีนฟาร์ม การนำระบบ Biogas และโซลาร์ฟาร์ม จากพลังงานธรรมชาติที่กลายเป็นขุมพลังสำคัญสามารถป้อนไฟฟ้าเข้ากระบวนการเลี้ยง เป็นพลังงานสะอาดที่ฟาร์มสามารถผลิตใช้เองได้ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า บางฟาร์มสามารถทดแทนการใช้พลังงานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ 100% และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ภาคปศุสัตว์ เป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนให้แก่โลกใบนี้ได้อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น