พิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมเป็นประธาน นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ในการเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างกันให้มีความสะดวก รวดเร็ว ส่งเสริมการค้าและท่องเที่ยว สนับสนุนเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศและช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ส่งผลดีต่อการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคในทุกมิติ
@สะพาน "บึงกาฬ-บอลิคำไซ" สร้างเร็วกว่าแผน คาดเปิดให้บริการต้นปี 67
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2562 มีมติอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง โดยรัฐบาลไทยใช้งบประมาณลงทุน 2,630 ล้านบาท ส่วน สปป.ลาวใช้เงินกู้จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือเนด้า วงเงินลงทุน 1,300 ล้านบาท รวมเงินลงทุนก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ระยะทางรวม 16.18 กม. แยกเป็นงานก่อสร้างฝั่งไทย 12 กม. และฝั่งลาว 2.8 กม.
ฝั่งไทยมีการก่อสร้าง 3 สัญญา ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ตอน 1 งานถนนฝั่งไทย ระหว่าง กม.0+000 - กม.9+400 ค่าก่อสร้าง 831 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ตอน 2 งานถนนฝั่งไทย และด่านพรมแดนฝั่งไทย ระหว่าง กม.9+400 - กม.12+082.930 ค่าก่อสร้าง 883 ล้านบาท 3. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ตอน 3 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยกทางหลวงหมายเลข 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน) ระหว่าง กม.12+082.930 - กม.13+032.930 ค่าก่อสร้าง 787 ล้านบาท
ฝั่ง สปป.ลาว แบ่งได้ 2 สัญญา ประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว ค่าก่อสร้าง 379 ล้านบาท ปัจจุบันคืบหน้า 43.22% เนื้องานคือ งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) 405 เมตร รูปแบบงานสะพานเป็นแบบ Extra-dosed Prestressed Concrete และโครงสร้างเชิงลาดในฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 130 เมตร วันเริ่มต้นสัญญา 4 ม.ค. 2564 วันสิ้นสุดสัญญา 3 ม.ค. 2567
2. งานก่อสร้างถนนและอาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว ค่าก่อสร้าง 773 ล้านบาท ปัจจุบันคืบหน้าที่ 64.31% เนื้องานคือ 1. งานก่อสร้างถนนระยะทาง 2.86 กม. เป็นถนน 4 ช่องจราจร มีความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร จุดสลับทิศทางจราจรในฝั่ง สปป.ลาว รวมระบบงานระบายน้ำและระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และ 2. งานอาคารด่านพรมแดนก่อสร้างตามมาตรฐานสากลประกอบด้วย 2 ส่วน แยกทางเข้าออกจากกัน คือ กลุ่มอาคารสำหรับตรวจผู้โดยสาร และกลุ่มอาคารสำหรับตรวจสินค้า พร้อมองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสาร วันเริ่มต้นสัญญา 4 ม.ค. 2564 วันสิ้นสุดสัญญา 3 ก.ค. 2566
ความคืบหน้าการก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 แบ่งงานก่อสร้างฝั่งประเทศไทยคืบหน้าแล้ว 60% ส่วนความคืบหน้าฝั่ง สปป.ลาว คืบหน้าแแล้ว 57.37% เร็วกว่าแผนที่ต้องคืบหน้า 56.33% คาดว่าจะเชื่อมต่อพื้นที่สะพานได้ประมาณกลางปี 2566 เปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2567
@เปิดโปรเจกต์ สะพานมิตรภาพ 11 แห่งข้ามพรมแดน
“สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทางหลวงมีโครงการสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำ จำนวน 11 แห่ง เชื่อมระหว่างไทยกับ สปป.ลาว, ไทย-เมียนมา, ไทย-กัมพูชา และไทย-มาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคมและขนส่งสินค้าสนับสนุนการค้าและพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยในการดำเนินโครงการนั้น รัฐบาลทั้งสองฝั่งจะหารือเพื่อตกลงในการดำเนินการก่อสร้าง แหล่งเงิน และการบริหารจัดการสะพาน
โดยมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เปิดใช้แล้วจำนวน 4 แห่ง ได้แก่
- สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ข้ามแม่น้ำโขงที่หนองคาย-ท่านาแล้ง เชื่อมสู่ภาคเหนือของ สปป.ลาว เปิดใช้เมื่อเดือนเมษายน 2537
- สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต) เชื่อมสู่ภาคใต้ของ สปป.ลาว ไปยังท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม เปิดใช้เมื่อเดือนธันวาคม 2549
- สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-แขวงคำม่วน) เชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ไปสู่ภาคกลางของ สปป.ลาว รวมถึงภาคกลางของเวียดนามและจีนตอนใต้ เปิดใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554
- สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เชื่อมต่อจาก จ.เชียงราย ไปทางเส้นทาง R3A หลวงน้ำทา-บ่อเต็น สปป.ลาว-สิบสองปันนา-คุนหมิง ประเทศจีน เปิดใช้เมื่อเดือนธันวาคม 2556
ส่วนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) เชื่อมจาก ทล. 212 ข้ามแม่น้ำโขง-เมืองปากซัน สปป.ลาว อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดเปิดใช้ต้นปี 2564
@ สะพานมิตรภาพ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ออกแบบเสร็จแล้ว ไทย-ลาวหารือเร่งก่อสร้าง
สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี -สาละวัน) ครม.มีมติเห็นชอบโครงการเมื่อ 30 กรกฎาคม 2555 ปัจจุบันศึกษาความเหมาะสม (FS) และออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนการหารือกับ สปป.ลาวเพื่อทำข้อตกลงร่วมกันในการก่อสร้าง สรุปแหล่งเงินและคาดว่าจะเสนอ ครม.ขอดำเนินโครงการในปี 2566 โดยประเมินวงเงินโครงการที่ 4,765 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 4,365 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 400 ล้านบาท)
โดยสะพานมีความยาว 1.02 กม. และทางลาดลงจากตัวสะพาน (Approach Viaduct) ความยาวฝั่งไทย 517 ม. ฝั่งลาว 70 ม., ถนนฝั่งไทย ระยะทาง 4.325 กม. ถนนฝั่งลาว 17.509 กม., อาคารด่าน (BCF) ในฝั่งไทยและลาว สะพานไทย-ลาว แห่งที่ 6 จะเชื่อม ทล.2112 ในอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ไปยังเส้นทางหลวงหมายเลข 13 ใต้ในเมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวันของ สปป.ลาว และสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนามได้อีกด้วย
@สะพานไทย-กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท) สร้างเสร็จแล้ว เหลืออาคารด่านพรมแดนของกรมศุลฯ
ขยับลงมาด้านล่าง สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท) เชื่อมระหว่างบ้านหนองเอี่ยน อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วของไทย กับตำบลปอยเปต ประเทศกัมพูชา วงเงิน 860 ล้านบาท ความยาวสะพาน 620 ม. (ฝั่งไทย 405 ม. ฝั่งกัมพูชา 215 ม.) ข้ามคลองพรมโหด ที่บ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว พร้อมจุดสลับทิศทางการจราจรและถนนเชื่อมต่อในฝั่งไทย ระยะทาง 4 กม. เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เริ่มต้นตั้งแต่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 3366 ระยะทางรวมทั้งสิ้น 4.7 กม. รับผิดชอบโดยกรมทางหลวงและกรมการทหารช่าง
“ดนัย เรืองสอน” ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ กรมทางหลวง กล่าวว่า การก่อสร้างสะพานและถนนเชื่อมต่อเสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2562 แต่ยังเหลืออาคารด่านพรมแดน (BCF) ซึ่งมติ ครม.มอบหมายให้กรมศุลกากริป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้าง
@ สะพานข้ามแม่น้ำเมย 1, 2 เชื่อม "ไทย-เมียนมา" แยกขนส่งสินค้าและผู้โดยสารลดแออัด
สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา มีสะพานข้ามแม่น้ำสาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นรูปแบบดั้งเดิมที่ด่านพรมแดนอยู่บนถนน เมื่อปริมาณจราจรเพิ่มเกิดปัญหารถติด ต่อมาจึงมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 พร้อมจุดผ่านแดนถาวรเพื่อแบ่งเบาภาระความหนาแน่นของจุดผ่านแดนถาวรแม่สายแห่งแรก
นอกจากนี้ สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1 เชื่อมระหว่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับเมืองเมียวดี เปิดใช้เมื่อปี 2540 โดยก่อสร้างถนนเชื่อมสะพานแบบเดิม ไม่มีพื้นที่ด่านพรมแดน เมื่อปริมาณรถมากขึ้นเกิดปัญหาจราจร ทำให้มีการก่อสร้าง “สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2” งบประมาณ 4,132 ล้านบาท มีอาคารด่านพรมแดนและถนนเชื่อมต่อ เปิดใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2562 รองรับรถบรรทุกสินค้าทุกชนิด และปรับสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1 รองรับเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคล
หลังเปิดสะพานข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 ทำให้การค้าการลงทุนชายแดนแม่สอดคึกคัก โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเชื่อมการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า การเดินทาง การท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนของ 2 ประเทศ คาดการณ์ว่าทำให้มูลค่าการค้าด่านพรมแดนแม่สอดเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่มีมูลค่า 78,000 ล้านบาท
@ผลักดันสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย “ข้ามแม่น้ำโก-ลก 2” คู่ขนานสะพานเดิม
สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย ปัจจุบันมีสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 1 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันจัง) เชื่อมระหว่างอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส กับเมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ขณะที่ไทยและมาเลเซียได้มีความเห็นร่วมกันในการก่อสร้างสะพานข้ามแดนเพิ่มเติม ได้แก่ โครงการสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก (ไทย-มาเลเซีย) แห่งที่ 2 ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ IMT-GT เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอีก 1 สะพาน คู่ขนานกับสะพานแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 1 เดิม ขนาด 2 ช่องจราจร โดยฝ่ายมาเลเซียรับผิดชอบออกแบบรายละเอียด
“ดนัย เรืองสอน” กล่าวว่า เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด-19 ทางมาเลเซีย จึงไม่สามารถเข้ามาทำการสำรวจกายภาพ และขุดเจาะตัวอย่างในพื้นที่ประเทศไทยได้ ดังนั้น ไทยจึงรับดำเนินการสำรวจกายภาพและธรณีวิทยา ซึ่งได้ดำเนินการและจัดส่งข้อมูลให้มาเลเซียนำไปประกอบการศึกษาออกแบบแล้ว คาดว่าจะออกแบบเสร็จในปี 2566 จากนั้นทั้งสองฝ่ายจะมีการเจรจาเพื่อก่อสร้างต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส-เปิงกาลันกูโบร์ รัฐกลันตัน มาเลเซีย ซึ่งฝ่ายไทยเป็นผู้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการเจรจาตกลงก่อสร้าง
@รายได้ค่าธรรมเนียมผ่านสะพาน ใช้บริหารจัดการและซ่อมบำรุง ไม่เป็นภาระงบ แถมจัดส่งคลัง 50%
ในการบริหารและบำรุงรักษาสะพานแต่ละแห่งนั้น จะมีข้อตกลงกำหนดวิธีการบริหาร การบำรุงรักษา และการใช้สะพาน การกำหนดอัตราค่าผ่านสะพาน และการปรับปรุงระเบียบการผ่านแดนระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งในส่วนของค่าธรรมเนียมผ่านสะพานนั้นจะมีการจัดเก็บรถยนต์ในขาขึ้นสะพาน ซึ่งกรมทางหลวงดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านสะพานมิตรภาพ โดยประกาศกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนสะพานมิตรภาพแต่ละแห่ง โดยออกตาม พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 แก้ไขเพิ่มเติม
โดยกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนสะพานมิตรภาพฯ ประเภทยานยนตร์ที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม-อัตราค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนสะพานต่อหนึ่งครั้ง
สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) เป็นอัตราเก่า เนื่องจากมีการเปิดใช้สะพานมานานแล้ว ดังนี้
รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง 20 บาท / รถบรรทุก 4 ล้อ 30 บาท / รถโดยสารขนาดเล็กเกิน 7 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 20 ที่นั่ง 50 บาท/ รถโดยสารใหญ่เกิน 20 ที่นั่ง 100 บาท / รถโดยสารขนาดใหญ่เกิน 20 ที่นั่ง 100 บาท / รถบรรทุก 6 ล้อ 150 บาท / รถบรรทุก 10 ล้อ 200 บาท / รถบรรทุกเกิน 10 ล้อ 300 บาท
ส่วนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 จัดเก็บในอัตราเดียวกัน ดังนี้
รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง 50 บาท / รถโดยสารขนาดเล็กไม่เกิน 7 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่ง 100 บาท/ รถโดยสารขนาดกลางเกิน 12 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 24 ที่นั่ง 150 บาท / รถโดยสารขนาดใหญ่เกิน 24 ที่นั่ง 200 บาท / รถบรรทุก 4 ล้อ 50 บาท / รถบรรทุก 6 ล้อ 250 บาท / รถบรรทุก 10 ล้อ 350 บาท / รถบรรทุกเกิน 10 ล้อ 500 บาท
ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำสาย 1, 2 สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1, สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 1 เนื่องจากเป็นสะพานที่เปิดใช้มานานแล้ว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลบริหารพื้นที่ด่านพรมแดน กรมทางหลวงดูแลซ่อมบำรุงสะพาน แต่ไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านสะพาน
ซึ่งแต่ละสะพานจะนำรายได้ค่าผ่านสะพานมาใช้บริหารจัดการและซ่อมบำรุงสะพาน โดยไม่เป็นภาระงบประมาณ และยังเหลือนำส่งคลัง 50% เป็นรายได้แผ่นดินอีกด้วย
ปัจจุบันปริมาณจราจรผ่านสะพานมิตรภาพมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติปี 2564 สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) มีปริมาณรถบรรทุก มากกว่า 10 ล้อ สูงที่สุด 134,416 คัน เนื่องจากมีเส้นทางต่อเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 12 ฝั่ง สปป.ลาว ส่วนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) มีปริมาณรถยนต์ขนาดเล็ก 62,103 คัน และมีรถบรรทุกสี่ล้อ 105,346 คัน สูงที่สุด เนื่องจากเป็นสะพานที่เชื่อมกับเวียงจันทน์ เมืองหลวง สปป.ลาว
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว, ไทย-เมียนมา, ไทย-กัมพูชา, ไทย-มาเลเซีย มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและเพื่อนบ้าน รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) ที่เริ่มจากเวียดนาม ผ่าน สปป.ลาว ผ่านไทยสู่เมียนมา และสามารถเชื่อมต่อไปถึงอินเดียและตะวันออกกลางได้อีกด้วย ขณะที่ด้านเหนือสามารถเชื่อมจากจีน ผ่านลาว ไทย ไปยังมาเลเซีย
นอกจากเรื่องการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อแล้ว สิ่งสำคัญที่ประเทศอาเซียนต้องหารือทำความเข้าใจกันคือ กระบวนการข้ามแดน ทั้งการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว การผ่านแดน พิธีการศุลกากร กฎระเบียบ การตรวจปล่อย ต้องไม่ซ้ำซ้อน ไม่เป็นคอขวด และลดภาระค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาให้มากที่สุด
การเดินทาง การขนส่ง และการข้ามแดนที่มีความสะดวก รวดเร็ว ช่วยเพิ่มศักยภาพยกระดับการค้าการขนส่งชายแดน และ กระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศในอาเซียน!!!