xs
xsm
sm
md
lg

JKN เปิดแผน9ทางโกยรายได้ ปั้นมิสยูนิเวิร์สสู่ซอฟท์เพาเวอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - แอน JKN ไขทุกข้อสงสัย พร้อมโชว์แผนโกยรายได้ 9 ทาง หลังเข้าเป็นเจ้าของ 100% ในองค์กรนางงามจักรวาล จากไอเอ็มจี เตรียมเข้าพูดคุยกับภาครัฐชูเวที MU มาจัดที่ไทยทุก 2 ปี เพื่อดันซอฟท์เพาเวอร์ไทย 5 ด้านออกสู่สายตาชาวโลก หวังดึงเม็ดเงินท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักเข้าประเทศ มั่นใจเวทีนี้ คืนทุนใน 2-3ปี

จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) หรือ แอน JKN เปิดเผยว่า จากการที่ JKN เข้าซื้อองค์กรนางงามจักรวาล จาก Endeavor Group Holdings, Inc จนได้มาเป็นเจ้าของแบบ 100% ในส่วนของการบริหารจัดการ ทางเราจะมุ่งเน้นในเรื่องพาร์ทคอมเมิร์ซเป็นหลัก และทางคอนเท้นต์พาร์ทยังอยู่ภายใต้การบริหารของ เอมี่ เอมเมอร์ริช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์กรนางงามจักรวาล และพอลล่า ชูการ์ต ประธานองค์กรนางงามจักรวาล เหมือนเดิม รูปแบบการบริหารงานการจัดประกวดยังเป็นฟอร์เมทเดิม กติกาอาจเปลี่ยนไปบ้าง เพียงแค่เปลี่ยนเจ้าของมาเป็นผู้หญิง และเป็นที่ทรานเจนเท่านั้น

“แผนงานของ MUO ยังเหมือนเดิม เราเคารพและพร้อมเรียนรู้ และให้เกียรติคุณเอมี่ และพอลล่าในการทำงานเหมือนเดิม ไม่มีการใช้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของเพื่อเข้าไปแทรกแซง หรือสนองความต้องการของตัวเอง ว่าจะจิ้มใครให้ได้มง เพราะต้องการให้องค์กรนี้อยู่ต่อบนความยั่งยืน แม้ในความเป็นจริง เราเป็นเจ้าของ ก็ทำได้ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ต้องรู้ว่าสิ่งไหนควรและไม่ควร ที่สำคัญเราต้องการพัฒนาให้องค์กรนี้ให้มีมาตรฐาน ยุติธรรม นานาชาติ สากล และเท่าเทียมกัน”
 
การดำเนินงานของ MUO แม้จะเปลี่ยนมือเจ้าของใหม่ แต่ได้เดินแผนการทำงานไปจนถึงปีพ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024) แล้ว ซึ่งแผนของปี2565 นี้ จะจัดประกวดที่เมืองนิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 14 ม.ค. 2566 ซึ่งในไทยจะมีถ่ายทอดสดทางช่อง JKN18 ส่วนแผนของปี 23 และ 24 ก็ได้ปิดดีลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าประเทศใดได้สิทธ์นั้นไป ทั้งนี้ช่วงเวลาในการออกอากาศจะเป็นของโฮสท์คันทรี หรือประเทศที่ได้สิทธิ์ประกวดในปีนั้นๆเป็นหลัก โดยจะเน้นเป็นช่วงเวลาไพร์มไทม์เป็นหลัก


นอกจากนี้ยังมีความตั้งใจที่จะดึงการประกวด MU มาจัดที่ไทยทุกๆ 2ปีด้วย เพื่อดันซอฟท์พาวเวอร์ไทย 5 ด้านออกสู่สายตาชาวโลก หวังดึงเม็ดเงินท่องเที่ยวมาเป็นรายได้หลักเข้าประเทศ แม้ในยามวิกฤติโลก แต่ท่องเที่ยวจะช่วยให้ไทยอยู่รอดได้ ดังนั้นแผนการดึงเวที MU มาจัดที่ไทยทุกๆ 2 ปี มองว่าภาครัฐควรรีบตัดสินใจ ซึ่งในส่วนนี้ทางตนจะมีการเดินหน้าเข้าพูดคุยกับทางภาครัฐในลำดับต่อไป

นอกจากนี้ในส่วนของไลเซ่นของแต่ละประเทศที่ได้สิทธ์จัดการประกวดในประเทศของตนนั้นยังคงเหมือนเดิม และยังอยู่ในส่วนบริหารจัดการที่ทางคุณเอมี่และพอลล่า ดูแลเหมือนเดิม ส่วนผู้ได้รับตำแหน่งในแต่ละปี ก็ยังคงดำรงตำแหน่งและทำงานที่เฮดควอเตอร์ในอเมริกาเหมือนเดิม เพียงแต่จะมีเฮดควอเตอร์ที่ไทยเพิ่มขึ้นมาอีกที่เท่านั้น

แอน JKN กล่าวต่อว่า MUO ในยุคของ JKN นั้น จะเน้นในเรื่องการต่อยอดรายได้ จากแบรนด์มิสยูนิเวิร์สที่มีมายาวนานกว่า 70ปี และกำลังก้าวสู่ปีที่ 71 มีรายได้เพียง 2-3 ทาง จากนี้จะมีรายได้เข้ามา 9 ทาง รวมถึงนำไปสู่การผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์ภายใต้ แบรนด์ MISS UNIVERSE® ทำให้แบรนด์นี้เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั่วโลกรวมถึงกลุ่มแฟนคลับกว่า 1,000 ล้านคนต่อไป

“ถึงเวลาที่ แบรนด์ MISS UNIVERSE® จะก้าวมาเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์แบรนด์ ล่าสุดจึงได้เปิดหน่วยธุรกิจ MU ไลฟ์สไตล์ขึ้นมา จากนี้เราจะได้เห็นสินค้าที่อยู่ภายใต้แบรนด์ MISS UNIVERSE® ไม่ว่าจะเป็น ด้านแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ โรงเรียนสอนนางงาม ร้านอาหาร เมอร์ชั่นไดซ์ คอสเมติก เสื้อผ้า ชุดว่ายน้ำ โรงแรม ไพรเวทเจ็ท เครื่องสำอาง และฟังก์ชั่นนอลดริ้ง”


สำหรับ 9 ช่องทางสร้างรายได้ ประกอบด้วย 1. FRANCHISE FEE : รายได้จากการอนุญาตสิทธิ์ให้แต่ละประเทศจัดประกวดนางงาม, 2. HOSTING FEE :รายได้จากการอนุญาตสิทธิ์ให้กับประเทศต่างๆ ในการเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี, 3. PRODUCTION FEE รายได้จากการรับจ้างผลิตงานการประกวด MISS UNIVERSE ในแต่ละปี, 4. SPONSORSHIP FEE : รายได้จากผู้สนับสนุนหลักการจัดประกวด MISS UNIVERSE, 5. MERCHANDISING & LICENSING FEE : รายได้จากการจำหน่าย หรือให้สิทธิ์ผลิตสินค้าและบริการ ภายใต้แบรนด์อันทรงคุณค่า, 6. BROADCAST FEE : รายได้จากการอนุญาตให้สถานีโทรทัศน์ทั่วโลกถ่ายทอดสดการประกวด, 7. MISS UNIVERSE PROGRAM & FORMAT FEE : รายได้ผ่านรายการ SUPER FORMAT อย่าง "ROAD TO THE UNIVERSE", 8. TALENT MANAGEMENT FEE : รายได้จากการบริหารงานศิลปิน จากผู้ชนะการประกวด MISS UNIVERSE และ9. TICKET SALES : รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการประกวดทุกแพลตฟอร์มของการรับชม

“การลงทุนในครั้งนี้ใช้เงินไปกว่า 800 ล้านบาท ต่อปีของการจัดประกวด ประเทศที่ได้สิทธิ์ไปต้องใช้เงินราว 400-500 ล้านบาทในการจัดประกวด กับระยะเวลาช่วงจัดประกวด 3-4 สัปดาห์ จะก่อเกิดรายได้ตามที่แจ้งไปใน 9 ช่องทาง ดังนั้นจึงมองว่า การลงทุนในครั้งนี้จะคุ้มทุนได้ภายใน 2-3 ปี” แอน JKN กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น