xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เร่งยกระดับขีดแข่งขัน SME รับมือวิกฤตต้นทุนพุ่ง-เทรนด์ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SMI เร่งขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการผลิตปรับตัวรองรับแรงกดดันรอบด้านทั้งผลกระทบต้นทุนการผลิตจากค่าแรง ดอกเบี้ยขาขึ้น ค่าพลังงานแพง แถมยังต้องมุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เผยห่วงไมโครเอสเอ็มอีสุดเหตุเผชิญปัญหาทุกด้าน มุ่งให้องค์ความรู้ด้านบัญชีหวังให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ประสานสถาบันเครือข่าย ส.อ.ท.ช่วยเหลือรอบด้าน

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI)
เปิดเผยว่า ขณะนี้ส.อ.ท.ได้เร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในส่วนของภาคการผลิตเพื่อให้สามารถรับมือกับแรงกดดันที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต่อเนื่องทั้งค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นเฉลี่ยราว 5% มีผล 1 ต.ค. แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น และต้นทุนพลังงานที่สูง ฯลฯ รวมไปถึงการที่ทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)

“ลำพังวันนี้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ยากอยู่แล้วจากแนวโน้มต้นทุนต่างๆ ที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาอีกเรื่องที่เอสเอ็มอีต้องเผชิญคือเวลานี้ธุรกิจทั่วโลกกำลังมุ่งตอบโจทย์ ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม โดยเบื้องต้นจึงอยากให้เอสเอ็มทุกรายปฏิบัติง่ายๆ ก่อนในเรื่องของความยั่งยืน คือ 1. หันมาดูแนวทางลดต้นทุนในกระบวนการผลิตด้านต่างๆ และรวมถึงการประหยัดพลังงาน อยากให้มองว่านี่คือโอกาสที่จะเพิ่มศักยภาพเพราะหากมองว่าเป็นอุปสรรคจะยิ่งยากแก้ไข” นายอภิชิตกล่าว

ปัจจุบันสมาชิก ส.อ.ท.กว่า 1.5 หมื่นรายมีเอสเอ็มอีอยู่ถึง 80% โดย SMI พร้อมเครือข่ายสถาบันภายใต้สังกัด ส.อ.ท.ที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันโดยสามารถติดต่อโดยตรงได้ ซึ่ง SMI แบ่งประเภทเอสเอ็มอีหลักๆ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพอยู่แล้วโดยมีลูกค้า ตลาดที่แน่นอน การปรับเปลี่ยนในด้านต่างๆ ทำได้ง่ายจึงมุ่งเน้นในเรื่องของการระดมเงิน เช่น การเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ฯลฯ

2. กลุ่มธุรกิจดั้งเดิมที่ทำธุรกิจแบบครอบครัว จำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับกระบวนการผลิตและการตลาดเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะผู้บริโภคในยุคดิจิทัล โดยมุ่งให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการเปลี่ยนสภาพธุรกิจที่ต้องหันมาใช้ระบบอัตโนมัติและการส่งเสริมการตลาดในรูปออนไลน์ เป็นต้น

3. กลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ที่ดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่งและมีคนงานเพียง 3-5 คนซึ่งกลุ่มนี้ค่อนข้างห่วงสุดเพราะต้องประสบปัญหาเกือบทุกด้านตั้งแต่เงินทุน แรงงาน ตลาด ฯลฯ ทาง SMI จึงมุ่งเน้นให้องค์ความรู้ด้านบัญชีเพื่อที่จะทำให้การประกอบธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพราะหากมีระบบบัญชีที่น่าเชื่อถือการไปขอกู้สถาบันการเงินจะง่ายกว่าลดการพึ่งพาการกู้เงินนอกระบบ

“ส.อ.ท.เองเรามุ่งที่จะช่วยเหลือตนเองกันอยู่แล้ว หากเอสเอ็มภาคการผลิตไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นหากต้องการองค์ความรู้หรือมีปัญหาใดๆ ก็สามารถติดต่อเราได้เลย เรามี SMI และสถาบันเครือข่ายที่พร้อมให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะ มีโครงการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือ เราไม่ได้รอมาตรการของภาครัฐอย่างเดียวที่จะปรับตัว รวมถึงการสนับสนุนสตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งรัฐบาลก็มุ่งเน้นด้านนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ใครมีความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียใหม่ๆ ที่จะมาช่วยลดปัญหาให้ได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้บางครั้งก็ทำธุรกิจไม่เป็นจึงต้องมาเติมส่วนนี้ ซึ่ง ส.อ.ท.และ SMI เราเองก็พร้อมสนับสนุน” นายอภิชิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น