ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. แตะ 91.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ยังกังวลต้นทุนพลังงาน หวั่นกระทบภาคการผลิต-ขนส่ง แนะรัฐเร่งดูแลราคาพลังงาน ค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนจนเกินไป เกาะติดส่งออกไตรมาสสุดท้ายหลังแนวโน้มอุปสงค์โลกชะลอตัว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 90.5 ในเดือนสิงหาคม โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการยกเว้นต้นทุนประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก
ปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงทำให้ภาครัฐยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และยุติศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (ศบค.) ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคในประเทศมีทิศทางดีขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นรวมถึงมาตรการภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 มาตรการดูแลราคาพลังงาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน ขณะที่ภาคการผลิตมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรกลฯ วัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมและขนส่งสินค้า ด้านการส่งออกอุปสงค์ในตลาดโลกเริ่มชะลอลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ จีน ยุโรป ตลอดจนปัญหาเงินเฟ้อที่มีผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่จีนยังคงดำเนินนโยบาย Zero Covid อย่างต่อเนื่องทำให้ปัญหา Supply Shortage ยังไม่คลี่คลายส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั่วโลก
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,274 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 77.4 สถานการณ์การเมือง ร้อยละ 45.5 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 37.8 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 60.3 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 42.5 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 35.8 และสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 34.2 ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 99.5 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่าเศรษฐกิจในประเทศจะมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังผันผวน ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งอาจกระทบการส่งออก และเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ทะลุ 100 บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่องในรอบ 1 ปี 9 เดือน แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามโดยเฉพาะการส่งออกในไตรมาส 4 เนื่องจากขณะนี้ความต้องการจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวลง ดังนั้นข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเดือนนี้ประกอบด้วย
1) มาตรการบรรเทาผลกระทบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น การดูแลราคาพลังงาน ค่าขนส่ง ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนเร่งแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นและการขาดแคลนวัตถุดิบ
2) มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย อาทิ โครงการพักชำระหนี้กับสถาบันทางการเงินต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อการฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วม
3) ดูแลค่าเงินบาทให้มีความสมดุลมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก
4) ออกมาตรการรณรงค์ประหยัดการใช้ไฟฟ้าและพลังงานอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
5) เร่งยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (Competitiveness) เช่น การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Guillotine) การปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตของราชการ การนำระบบ Digital มาใช้ และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น