การตลาด - “บิสโตร เอเชีย” เครือไทยเบฟ โชว์เสน่ห์ปลายจวักผ่าน 6 แบรนด์ร้านอาหารครั้งใหม่ ปรุงรสจนหอมกรุ่นกลิ่นเครื่องเทศ พร้อมเสิร์ฟขึ้นโต๊ะระดับเหลา ล่าสุดออเดอร์เข้ารัวๆ สร้างสถิติใหม่จากติดลบสู่กำไรใน 7 เดือน หลังจากขาดทุนมานานกว่า 7 ปี โดย “แซม-ไพศาล อ่าวสถาพร” อดีตแม่ทัพกลุ่มอาหาร “โออิชิ” สู่ความท้าทายครั้งสำคัญ ดันร้านอาหารกลุ่มไทย จีน ฝรั่ง ของไทยเบฟในวันนี้ให้เป็นสตาร์ในวันพรุ่งนี้ เชื่อ 3 ปีรายได้ 2,500 ล้านบาท
ฉายภาพใหญ่ “ไทยเบฟ” ยักษ์แห่งวงการเครื่องดื่มและอาหาร หลังจากช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2565) มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 142,942 ล้านบาท เติบโต 8.9% ซึ่งในกลุ่มธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขาย 7,688 ล้านบาท เติบโต 30.6% มีกำไรสุทธิ 168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 261.5%
ในส่วนของธุรกิจอาหารนี้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารและฟาสต์ฟูดในรูปแบบเชนที่หลายๆ คนรู้จัก ไม่ว่าจะเป็น โออิชิ หรือ KFC เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงไทยเบฟยังมีธุรกิจร้านอาหารระดับภัตตาคารไว้ในมือด้วยเช่นกัน ซึ่งมีทั้งร้านอาหารไทย จีน และฝรั่ง รวมกันอยู่ภายใต้บริษัทที่ชื่อ “บิสโตร เอเชีย” โดยเป็นกลุ่มร้านอาหารที่ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ชื่นชอบจึงได้ซื้อมา รวมทั้งที่พัฒนาขึ้นเอง
ทว่า ที่ผ่านมาอาจจะกล่าวได้ว่าผลลัพธ์ยังไม่บังเกิดเท่าที่ควร แบรนด์ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก
กระทั่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อประมาณปีที่แล้ว “บิสโตร เอชีย” ได้ผู้นำทัพใหม่ที่ชื่อ “แซม-ไพศาล อ่าวสถาพร” มือดีแห่งร้านอาหารญี่ปุ่นเครือ “โออิชิ” ผู้ปลุกปั้นแบรนด์โออิชิจนยึดครองบัลลังก์ผู้นำด้านร้านอาหารญี่ปุ่นมาโดยตลอด สู่ความท้าทายครั้งใหม่ ด้วยการเข้ามารับผิดชอบปรุงรสครั้งใหม่ให้ “บิสโตร เอเชีย” เป็นสตาร์ดวงใหม่ให้กับกลุ่มธุรกิจอาหารของไทยเบฟอีกฟากหนึ่ง
สำหรับบริษัท บิสโตร เอเชีย จำกัด เป็นบริษัทในเครือไทยเบฟ ทำธุรกิจร้านอาหาร โดยมีแบรนด์ร้านอาหารในเครือที่ประกอบไปด้วย บ้านสุริยาศัย (BAAN SURIYASAI), ไฮด์ แอนด์ ซีค แอทธินี (HYDE & SEEK Athenee), หม่าน ฟู่ หยวน (MAN FU YUAN), โซ อาเซียน (SO Asean Café & Restaurant), สโมสรราชพฤกษ์ (Rajpruek Club), บริการจัดเลี้ยง และศูนย์อาหารฟู้ด สตรีท (Food Street)
ก่อนที่จะได้มือดีเข้ามาปรุงรสใหม่ในครั้งนี้ นับย้อนกลับไปในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 61-ก.ย. 62) ถือเป็นช่วงที่กลุ่มร้านอาหารไทย จีน ฝรั่ง ของไทยเบฟยังมีผลงานที่ดี แต่พอเข้าสู่ปีงบประมาณ 63-64 ซึ่งมีสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น รายได้ก็ลดน้อยลงตามสถานการณ์ ทำให้ต้องมีการกู้สถานการณ์ครั้งสำคัญ จนเข้าสู่ปีงบประมาณ 2565 หรือหลังจากได้กุนซือมานั่งจัดทัพกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่หมด ส่งผลให้ผลประกอบการของ บิสโตร เอเชีย ในเดือน ก.ย. 65 ที่ผ่านมา เทียบกับปีก่อนโตขึ้น 280%
หรือกล่าวได้ว่า ผลงานตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาร้านอาหารไทย จีน ฝรั่ง ภายใต้ “บิสโตร เอเชีย” กลับมาเติบโตและมีกำไรในที่สุด และทุกแบรนด์เติบโตต่อเนื่องทุกไตรมาส โดยแบรนด์ที่สร้างรายได้หลักคือ สโมสรราชพฤกษ์ และรองลงมาคือ บ้านสุริยาศัย
บิสโตร เอเชีย Bistro Asia ก่อตั้งขึ้นมาได้ประมาณ 4 ปี ซึ่งเกิดขึ้นมาจากแนวคิดของคุณหนุ่ม (นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารของไทยเบฟเวอเรจ) ที่ต้องการให้มีร้านอาหารหลากหลายแบรนด์ในเครือเพื่อครอบคลุมตลาดให้มากที่สุดและเพื่อให้เข้ามาสนับสนุนพอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้นโดยที่ต้องหาคนเข้ามาเติมเต็มรับผิดชอบดูแลธุรกิจนี้ให้ได้
**สูตรลับฉบับเชฟแซม**
“ทุกคนอาจจะคิดว่าผมมีความถนัดและเชี่ยวชาญกับอาหารญี่ปุ่นเป็นหลัก จากภาพที่ได้บริหารแบรนด์โออิชิมาตั้งแต่ต้นเกือบ 17 ปี แต่ในความเป็นจริงผมไม่มีความรู้ในเรื่องอาหารญี่ปุ่นเลย จึงต้องเรียนรู้ ค้นหา และเข้าถึงอาหารญี่ปุ่นให้มากที่สุด เพื่อนำมาปรับใช้กับการบริหารแบรนด์โออิชิ ซึ่งในความเป็นจริงจากที่เคยใช้ชีวิต และเป็นเชฟอยู่สหรัฐอเมริกามาหลายปี อาหารไทย จีน ฝรั่ง ต่างหากคือสิ่งที่ผมเชี่ยวชาญที่สุด การได้โจทย์ใหญ่ในครั้งนี้จึงเหมือนกลับมาสู่สิ่งที่คุ้นเคยแต่มีความท้าทายไม่แพ้กัน” นายไพศาล อ่าวสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสโตร เอเชีย จำกัด บริษัทในเครือไทยเบฟ กล่าวเปิดใจเป็นครั้งแรกหลังจากที่เข้ามาบริหารได้ครบปี
แน่นอนว่าการจะทำให้ร้านอาหารเบอร์รองให้แจ้งเกิดได้นั้น จะต้องทิ้งความคิดเดิมลงทั้งหมด แล้วมาคิดใหม่ มองหาสิ่งใหม่ ให้กลายเป็นจุดแข็ง มองหาช่องว่างที่ยังสามารถเข้าไปได้
อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นเรื่องใหม่สำหรับแบรนด์ตัวเอง
โดยเฉพาะในช่วงแรก ไพศาลให้ความสำคัญและพุ่งเป้าหมายไปที่บ้านสุริยาศัย และร้านไฮด์ แอนด์ ซีค เป็นหลัก เพราะทั้งสองแบรนด์ลูกค้าและรายได้น้อยมาก เขาเข้ามาแก้ไข เปลี่ยนแปลง และจัดการแทบจะใหม่หมด เรียกว่าปรุงสูตรกันใหม่เลยทีเดียว
นายไพศาล อ่าวสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสโตร เอเชีย จำกัด บริษัทในเครือไทยเบฟ กล่าวว่า ตลอดปีที่เข้ามาดูแลบิสโตร เอเชีย ได้มีการปรับแผนขับเคลื่อนครั้งใหม่ด้วย 5 กลยุทธ์สำคัญ คือ
1. NPD : New Menu to Suit Brand Positioning, Target Group, and Location Type คือการคิดเมนูใหม่ๆ ให้เข้าโพซิชันนิ่งของแต่ละแบรนด์ รวมถึงโลเกชันก็มีความสำคัญในการกำหนดเมนูให้ตรงกับทาร์เกตด้วยเช่นกัน
2. Focusing on Delivery Platform to gain Brand Awareness, Trail, and Sales มุ่งเน้นไปที่แพลตฟอร์มการจัดส่ง เพื่อให้ได้รับการรับรู้แบรนด์ การติดตาม และการขาย ดีลิเวอรีจึงเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญที่นำมาใช้ ส่งผลให้หลังโควิดคลี่คลาย แต่บิสโตร เอเชีย ยังเติบโตได้ดีอยู่ ซึ่งต่างจากกลุ่มร้านอาหารในตลาดที่พบว่ายอดขายหลังโควิดจะลดลง เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
3. Product Line Extension เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ ด้วยการจัดทำผลิตภัณฑ์ออกมาในรูปแบบเซตของขวัญระดับพรีเมียม เช่น Auspicious Thai Dessert & Tea Set ชุดขนมไทยมงคลความหมายดี ราคา 5,999 บาท, Premium Seasonal Fruit Premium Set A ราคา 5,000 บาท และ Seasonal Fruit Set B ชุดผลไม้พรีเมียมตามฤดูกาล ที่มีนัยความหมายมงคล เริ่มต้น 7,500-15,000 บาท เป็นต้น แม้จะมีราคาค่อนข้างสูงแต่กลับมีออเดอร์สั่งเข้ามาจนแทบจัดทำไม่ทัน และจากเสียงตอบรับที่ดี จึงมีแผนที่จะโคกับแบรนด์อื่นๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเซตของขวัญอีกส่วนหนึ่งด้วย
4. Personalized Catering & Chef Table Service บริการจัดเลี้ยงส่วนบุคคล เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ได้รับการตอบรับสูงมาก ที่สำคัญเป็นบริการที่เห็นกำไร ไม่มีคู่แข่ง เพราะเจาะตลาดแบบนีชมาร์เกต บริการแบบพรีเมียม ด้วยวัตถุดิบด้านอาหารที่พรีเมียม ตามใจลูกค้าแบบสั่งได้ดั่งใจ ว่าต้องการอาหารแบบไหน แน่นอนว่าอาหารไทยเป็นออเดอร์ที่มีเข้ามาเยอะที่สุด
5. Digital adoption เป็นเทคโนโลยีใหม่ ลิขสิทธิ์เฉพาะของ บิสโตร เอเชีย ที่รวมทุกการจ่ายทั่วโลกมาไว้บนจอเดียวทั้งหมด ถือเป็นจุดแข็ง และความต่างที่แบรนด์อื่นๆ ไม่สามารถทำได้ ที่สำคัญยังเป็นไฮไลต์ของปีนี้ด้วย
ไพศาลเดินเกมตามสูตรนี้ทั้งหมดกับทุกแบรนด์ ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีความแตกต่างและคาแรกเตอร์ที่ไม่เหมือนกัน บางแบรนด์เหมาะกับกลยุทธ์นี้ บางแบรนด์ไม่เหมาะกับกลยุทธ์นี้ ก็ต้องค่อยๆ ปรับแก้กันไป เช่น บ้านสุริยาศัยที่มีภาพลักษณ์เป็นบ้านเรือนไทย มีระดับ มีตำนาน ราคาอาหารค่อนข้างสูง มีทั้งออกเมนูใหม่ การจัดทำกิฟต์เซตอาหาร ของพรีเมียม การทำโปรโมชัน เป็นต้น ซึ่งเขาแย้มว่าการขายพวกของพรีเมียมอาหารกิฟต์เซตบางทีขายได้ง่ายและเร็วกว่าและมากกว่าขายอาหารเป็นจานด้วยซ้ำไป
หรือแม้แต่ร้าน ไฮด์ แอนด์ ซีค ที่ภาพลักษณ์ก็ไม่ค่อยชัดเจนว่าจะเป็นร้านอาหาร หรือจะเป็นร้านแฮงก์เอาต์กันแน่ จึงทำให้ลูกค้าค่อนข้างสับสน ก็ทำตลาดแบบเต็มที่ ท้ังการออก Special Brunch Buffet ราคา 599 บาทต่อคน เพื่อดึงคนเข้ามารับประทานอาหาร การใช้อินฟลูเอนเซอร์เข้ามาช่วยสร้างแบรนด์และดึงคน เป็นต้น
ขณะที่แบรนด์ หม่านฟู่หยวน กับ โซอาเซียน ก็เปิดบริการดีลิเวอรีในช่วงที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นการเพิ่มยอดขายได้อีกทาง
**เปิดแผนลุย ขอ 3 ปีรายได้ 2,500 ล้าน
ทั้งนี้ ในปี 2566 บิสโตร เอเชีย พร้อมขยายสาขาอยู่หลายแบรนด์ เช่น หม่าน ฟู่ หยวน, SO Asean และ HYDE & SEEK เน้นโลเกชันพรีเมียม หรือไปกับโครงการของไทยเบฟ ล่าสุดในส่วนของ “ฟู้ด สตรีท” ได้เปิดให้บริการที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ด้วยงบลงทุน 50 ล้านบาท และในปีหน้าจะเปิดเพิ่มที่ สีลมเอจ ทั้งฟู้ด สตรีท และ HYDE & SEEK
แต่บางแบรนด์ก็คงไม่สามารถจะขยายสาขาอะไรได้มาก เช่น สโมสรราชพฤกษ์ (Rajpruek Club) หรือบ้านสุริยาศัย ที่มีความเป็นเฮอริเทจเฮาส์ (Heritage House) แต่ว่าสามารถทำได้ในแง่ของการต่อยอดแบรนด์และการบริการและสินค้าในระดับพรีเมียมแบรนด์และความเป็นไทย
ส่วนแบรนด์ที่สามารถขยายได้มาก เช่น หม่าน ฟู่ หยวน, SO Asean และ HYDE & SEEK รวมท้้งศูนย์อาหารฟู้ด สตรีท
ปัจจุบันภายใต้ Bistro Asia มีร้านอาหารที่มีสาขารวมกัน 22 สาขา คือ สโมสรราชพฤกษ์ 1 สาขา, บ้านสุริยาศัย 1 สาขา, HYDE & SEEK 1 สาขาที่พลาซ่าแอทธินี, So Asean 11 สาขา, หม่าน ฟู่ หยวน 4 สาขา และฟู้ดสตรีท 4 สาขา
*** ฟู้ด สตรีท แบรนด์ใหม่สไตล์แซม
นายไพศาลกล่าวว่า ศูนย์อาหารฟู้ด สตรีท ถือเป็นอีกหนึ่งในแบรนด์ที่อยู่ในเครือของบิสโตร เอเชีย ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในเครือ ภายใต้การสร้างแพลตฟอร์มของศูนย์อาหารแนวใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยการเปิด ฟู้ด สตรีท สาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา บนพื้นที่ประมาณ 900-1,000 ตารางเมตร ถือเป็นแฟลกชิป และเป็นสาขาต้นแบบที่จะถูกนำไปใช้ต่อยอดในการเปิดสาขาต่อไป ซึ่งสาขานี้จะเป็นการยกระดับ และเปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า จะเป็นสาขาแรกที่นำระบบ Digital มาใช้ ผ่านรูปแบบของตู้คีออสก์ที่ลูกค้าสามารถเลือกเมนูอาหาร และสั่งจากตู้แล้วไปรับที่ร้านที่เลือกไว้ได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเข้าคิวสั่งหน้าร้าน
ไม่เพียงเท่านั้น ตู้คีออสก์ที่นำมาใช้ยังสามารถรองรับระบบการชำระเงินได้ทุกระบบทั้งแอปพลิเคชัน คิวอาร์โค้ด หรือระบบการชำระเงินชื่อดังของต่างประเทศทั้งอาลีเพย์ วีแชทเพย์ แรบบิทเพย์ และบัตรเครดิตชั้นนำต่างๆ ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ในการใช้บริการผ่านศูนย์อาหารที่นอกจากจะรองรับกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ารุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับโลกของดิจิทัลแล้ว ยังช่วยในการแก้ Pain Point ให้กับลูกค้าโดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์ประชุม และมักจะประสบปัญหาในการใช้เงินสด ขณะเดียวกัน ยังช่วยทำให้ลูกค้าชาวไทยไม่ต้องเสียเวลาในการเข้าคิวเพื่อแลกบัตร รวมถึงต้องเสียเวลาในการรอคิวที่หน้าร้านอาหารอีกด้วย
“ลูกค้ายังสามารถซื้อบัตรของศูนย์อาหารผ่านตู้คีออสก์ได้ โดยเลือกรูปแบบการชำระเงินผ่านระบบเพย์เมนต์ต่างๆ ตามที่ต้องการ ขณะเดียวกัน ลูกค้ายังสามารถสั่งอาหารที่หน้าร้านแล้วชำระเงินผ่านระบบเพย์เมนต์ได้เลย ซึ่งบริการต่างๆ ที่นำมาใช้นี้ เราต้องการสร้าง New Customer Journey ใหม่ๆ เพื่อต่อยอดไปสู่การเปิดสาขาใหม่ที่โครงการ One Bangkok ซึ่งจะเป็นอีกศูนย์อาหารภายใต้แบรนด์ ฟู้ด สตรีท ที่จะยกระดับประสบการณ์การใช้บริการศูนย์อาหารไปอีกระดับ” แม่ทัพบิสโตร เอเชีย กล่าว
นอกจากการสร้างประสบการณ์ใหม่ในการใช้บริการผ่านเครื่องมือ Digital แล้ว ฟู้ด สตรีท สาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นี้ยังให้ความสำคัญต่อการเลือกร้านอาหาร ตลอดจนการดีไซน์บรรยากาศภายในศูนย์อาหาร ให้ฉีกแนวไปจากทั่วๆ ไปที่เป็นลานนั่งโล่งๆ โดยทำเป็นโซนนิ่ง แบ่งเป็น 4 โซน คือ ละเมียด ละมัย จี๊ดจ๊าด และจัดจ้าน แต่ละโซนจะเลือกใช้สีหรือการดีไซน์ให้เข้ากับโซน ทำให้เกิดความรู้สึกหรือให้อารมณ์ที่แตกต่างไม่เหมือนกับการนั่งในฟูดคอร์ตทั่วไปที่เหมือนกันหมด ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวมากขึ้น
เช่นเดียวกับการดีไซน์ของร้านอาหาร ที่แต่ละร้านหรือแต่ละแบรนด์จะดีไซน์ผ่านเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งจะเป็นการดีไซน์ที่สอดรับกับคอนเซ็ปต์ของ “ฟู้ด สตรีท” ที่เปรียบเสมือนถนนเส้นหนึ่งที่มีร้านอาหารชื่อดังอยู่บนถนน ที่ลูกค้าสามารถเลือกนั่งรับประทานโดยให้บรรยากาศเสมือนกับการนั่งรับประทานในร้านอาหาร ที่มีความหลากหลายตั้งแต่ข้าวราดแกงไปจนถึงหูฉลาม ในราคาที่จับต้องได้ง่าย เริ่มต้นตั้งแต่ 55 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นราคาที่เข้าถึงได้ง่ายทั้งพนักงานออฟฟิศ และคนที่มาเดินในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ขณะที่จุดเด่นของร้านอาหาร ฟู้ด สตรีท มีการนำร้านอาหารที่ได้มิชลินสตาร์เข้ามาเปิดจำหน่ายในราคาย่อมเยา เข้าถึงง่าย โดยมีร้านที่ได้มิชลินสตาร์ 2 ราย คือ ร้านเพ้ง คั่วไก่ และร้านราดหน้า 40 ปี ศาลเจ้าพ่อเสือที่ได้มิชลินสตาร์มา 2 ปีซ้อน โดยร้านค้าจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ร้านประจำ 18 ร้านค้า และอีก 8 ร้านค้าที่เป็นร้านค้าหมุนเวียนตามฤดูกาล ซึ่งจะเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือน
การทำฟูดคอร์ตในปัจจุบันต้องมีแบรนด์ และใช้แบรนด์เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้า เพราะประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญ ที่แม้การทำฟูดคอร์ตจะดูเหมือนแค่การนำร้านอาหารชื่อดัง อร่อยๆ มารวมอยู่ในศูนย์ แต่ถ้าหากมองลึกลงไปแล้ว การสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ทั้งจากตัวบริการใหม่ๆ ร้านค้า หรือแม้แต่การดีไซน์ บรรยากาศ จะเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง และให้ความสำคัญอย่างมาก ทั้งหมดนั้นจึงเป็นที่มาว่า ทำไม บิสโตร เอเชีย ถึงต้องทำฟู้ด สตรีท สาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้ออกมาแนวนี้
“ที่สำคัญเราใช้ฟู้ด สตรีท เป็นอีกหนึ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยยกระดับการทำศูนย์อาหารผ่านการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เพียงจะเข้ามาช่วยแก้ Pain Point ให้ลูกค้าเท่านั้น แต่ยังเข้ามาช่วยยกระดับความสามารถหรือทักษะในการใช้เทคโนโลยีให้แก่พนักงาน ซึ่งฟู้ด สตรีท สาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะถูกใช้เป็นต้นแบบที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่การเปิดสาขาใหม่ๆ ที่จะเป็นการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจที่ยังเปิดกว้างค่อนข้างมาก” นายไพศาลกล่าว
อย่างไรก็ตาม แผนการขยายสาขาของบิสโตร เอเชีย อยู่ภายใต้การขับเคลื่อนการเติบโตจะสอดรับกับ Passion 2025 ของไทยเบฟ ที่ประกอบไปด้วย 1. Build หรือการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ผ่านทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับ และเพิ่มตลาดที่น่าสนใจ 2. Strengthen หรือการเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจหลัก เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในระดับอาเซียน 3. Unlock หรือการนำศักยภาพของบริษัทมาก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุด ทั้งมุมทรัพยากรภายใน และเครือข่ายพันธมิตร
แน่นอนว่า การเข้ามาปรุงสูตรใหม่ให้บิสโตร เอเชีย ในครั้งนี้ ในแง่รายได้ภายในปี 2568 บิสโตร เอเชีย จะมีรายได้อย่างน้อย 2,500 ล้านบาท ถือเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้สูง เห็นได้จากเพียง 1 ปีที่ผ่านมา บิสโตร เอเชียกลับมาเติบโตถึง 76%
นี่คืออีกวาระหนึ่งของการพิสูจน์ฝีมือของ “แซม-ไพศาล อ่าวสถาพร”