xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ยืนยันเกษตรกรภาคใต้ประกันรายได้ปี 4 เดินหน้าต่อ ย้ำปุ๋ยราคาลงต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุรินทร์” ยืนยันพี่น้องเกษตรกรภาคใต้ ประกันรายได้ปี 4 พืชเกษตร 5 ชนิดยังเดินหน้าต่อ เผยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาช่วยเหลือเกษตรกรในจังหวัดชุมพรมีรายได้เพิ่มขึ้น ยางได้เพิ่มเฉลี่ยครัวเรือนละ 1.6 หมื่นบาท ปาล์ม 2 หมื่นบาท ส่วนปุ๋ยราคาเริ่มลดลงต่อเนื่อง ยูเรียลง 18% ปุ๋ยใช้สำหรับปาล์มลง 25% เตรียมเจรจาจีน คาซัคสถาน นำเข้าเพิ่มอีก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร และเป็นประธานในพิธีมอบเช็คชําระหนี้และมอบโฉนดที่ดินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้แก่เกษตรกรจังหวัดชุมพร ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาชุมพร อําเภอเมือง จังหวัดชุมพร ว่า นโยบายประกันรายได้เกิดขึ้นตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว จะเป็นหลักประกันให้พี่น้องเกษตรกรให้มีรายได้สองส่วนจากราคาที่ขายในตลาดและส่วนต่างจากรายได้ที่ประกัน โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยตรง มีการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมาช่วยให้พี่น้องชาวปักษ์ใต้ลืมตาอ้าปากได้

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจังหวัดชุมพรมีเกษตรกรผู้ปลูกยาง 50,000 ราย ได้เงินรวมเฉพาะส่วนต่าง 765 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 16,235 บาท ปาล์มน้ำมันมี 61,000 ราย โอนเงินส่วนต่าง 3 ปีที่ผ่านมา 1,230 ล้านบาท ได้ส่วนต่างเฉลี่ยรายละ 20,000 บาท


สำหรับราคาพืชเกษตรสำคัญในภาคใต้ คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ โดยยางพาราราคาดีขึ้น ปีที่แล้วไปถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ความต้องการน้ำยางไปผลิตถุงมือยางจึงลดลง ล่าสุดยางแผ่นดิบ 47-50 บาทต่อ กก. ขี้ยาง 21-23 บาทต่อ กก. ถือว่าราคายังดี ส่วนปาล์มน้ำมันก่อนตนเข้ามากิโลกรัมละ 2 บาทกว่าหลายปี วันนี้ 4-6 บาทต่อ กก. บางช่วงถึง 12 บาทต่อ กก. ซึ่งเป็นธรรมชาติของราคาพืชผลเกษตรทุกประเทศในโลกเหมือนกัน ราคาไม่เสถียรขึ้นกับตลาดโลก ความต้องการ และผลผลิตในโลก เป็นไปตามกลไกตลาดโลก

นายจุรินทร์กล่าวว่า ทางด้านการดูแลเกษตรกร มีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2542 สมัยรัฐบาลชวนสอง (นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2) เพื่อช่วยเกษตรกร 2 เรื่อง คือ 1. ช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ไม่ให้เสียที่ดินไปเป็นของนายทุน โดยชดใช้หนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ แทน เมื่อชำระครบจะคืนโฉนดให้เกษตรกร ซึ่งมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนจนถึงวันนี้ 5,600,000 ราย แก้ปัญหาหนี้สินไปแล้ว 500,000-600,000 ราย และวันนี้ลดดอกเบี้ยให้กับสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เหลือ 0% และจะมีเงินฟื้นฟูพัฒนาชีวิตเกษตรกรให้กับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ของบกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปลงทุนให้มีรายได้ยังชีพได้

จังหวัดชุมพรช่วยเหลือพี่น้องมาแล้ว ให้เงินจัดการซื้อหนี้ช่วงที่ตนเข้ามาเป็นประธาน 168 ล้านบาท แก้ปัญหาหนี้เกษตรกรคืนโฉนดไปแล้ว 970 ราย ให้งบประมาณทำโครงการฟื้นฟูอีก 130 โครงการ เกือบ 100 ล้านบาท และวันนี้มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่เป็นหนี้เพิ่มอีก 1,134 คนในจังหวัดชุมพร ซึ่งเกษตรกร คือหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ส่วนเรื่องปุ๋ยที่ราคาแพง ซึ่งแพงมา 1-2 ปี เพราะราคาน้ำมันโลกแพงขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก โดยก๊าซธรรมชาติคือวัตถุดิบในการทำปุ๋ย ปุ๋ยต้องนำเข้า 100% ประเทศไทยผลิตเองไม่ได้ ราคาจึงขึ้นอยู่กับตลาดโลก ที่ผ่านมาราคาขึ้นไปหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้นทุนปุ๋ยแพง และต้องนำเข้า โดยใช้น้ำมันขนส่ง ซึ่งตนพยายามปรับปรุงโครงสร้างราคาใหม่ ลดกำไรลง แต่ต้องให้ผู้นำเข้าอยู่ได้ด้วย ไม่ให้ปุ๋ยขาดตลาด

ทั้งนี้ เรื่องปุ๋ยขาดแก้ได้พอสมควร เพราะตนเจรจากับซาอุดีอาระเบียได้ปุ๋ยมา 450,000 ตัน และอีกไม่กี่วันนี้จะเจรจากับจีน เพราะก่อนนี้จีนห้ามส่งออกปุ๋ย ตนจะไปเจรจาเป็นพิเศษเพื่อขอนำเข้า และอีกประเทศ คือ คาซัคสถาน ซึ่งเป็นประเทศผลิตปุ๋ย เพื่อนำปุ๋ยช่วยแก้ปัญหาไม่ให้ขาด แต่ปุ๋ยแพงทั้งโลก ยังแพงอยู่ แต่ราคาก๊าซธรรมชาติกับน้ำมันเริ่มลดลง จะเห็นว่าปุ๋ยเริ่มราคาลดลง โดยจากการติดตามราคา พบว่าปุ๋ยราคาลดลง ยูเรียลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงที่ราคาสูง และสูตร 21-0-0 ที่ใช้กับปาล์มน้ำมัน ลดลงประมาณ 25% ซึ่งพวกตนคิดถึงพี่น้อง รัฐบาลนี้ไม่ทิ้ง จะพยายามช่วยให้เดือดร้อนน้อยที่สุด และพยายามสร้างรายได้พืชผลเกษตรให้ดีขึ้น เพื่อชดเชยกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น และสุดท้ายยังมีประกันรายได้ เพื่อให้พี่น้องพอลืมตาอ้าปากได้ หากมีมาตรการอื่น ตนก็ยินดีที่จะเข้ามาช่วยดูแล

ข้อมูลจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรระบุว่า วันนี้ได้มีการมอบเช็คเงินชำระหนี้แทนเกษตรกรสมาชิก จำนวน 1 ราย จำนวน 1 สหกรณ์ เป็นเงินจำนวน 361,556.03 บาท มอบโฉนดที่ดินคืนเกษตรกรที่ได้ชำระหนี้คืนกองทุนครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำนวน 5 ราย 8 แปลง เนื้อที่ 47 ไร่ 1 งาน 76.7 ตารางวา และมอบใบทะเบียนองค์กรเกษตรกร จำนวน 13 องค์กร จำนวนสมาชิก 1,134 คน










กำลังโหลดความคิดเห็น