xs
xsm
sm
md
lg

วว. วิจัยพัฒนา “เครื่องคัดขนาดเมล็ดหมาก” เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ประหยัดพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ บูรณาการดำเนินงานวิจัยและพัฒนา ภายใต้ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งนวัตกรรมเกษตร ประสบผลสำเร็จวิจัยพัฒนา "เครื่องคัดขนาดเมล็ดหมาก" ที่สามารถคัดแยกขนาดหมากได้ 20 กิโลกรัมต่อนาที เพิ่มประสิทธิภาพการอบแห้ง ช่วยประหยัดพลังงานในกระบวนการอบ จำหน่ายหมากคัดขนาดได้ราคาดีขึ้น


ทั้งนี้การอบแห้งเมล็ดหมากโดยเครื่องอบก๊าซ LPG จะสามารถอบแห้งเมล็ดหมากได้ครั้งละจำนวนมาก (ประมาณ 1-2 ตัน)
แต่จะใช้ระยะเวลาในการอบนานและเมล็ดหมากที่ได้มีความแห้งไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากเมล็ดหมากมีขนาดที่คละกันมาก ดังนั้นในการอบแต่ละครั้ง เมล็ดหมากที่มีขนาดเล็กจะแห้งเกินไป ส่วนเมล็ดหมากที่มีขนาดใหญ่ส่วนเนื้อในยังไม่แห้ง ทำให้เกิดเชื้อราในหมาก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของสินค้า จากประเด็นปัญหาดังกล่าว คณะนักวิจัย วว. ได้ทำการศึกษาเพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาโดยพบว่า หากมีการคัดแยกขนาดเมล็ดหมากก่อนนำไปอบแห้ง จะช่วยประหยัดเวลาในการอบ ช่วยลดต้นทุนก๊าซ LPG และช่วยให้ได้หมากแห้งที่มีคุณภาพ อีกทั้งหมากที่ผ่านการคัดขนาดแล้วเมื่อนำไปจำหน่ายจะได้ราคาดี วว. จึงพัฒนาเครื่องคัดขนาดเมล็ดหมากขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตหมากแห้ง


โดย วว. ออกแบบพัฒนา "เครื่องคัดขนาดเมล็ดหมาก" เป็นเครื่องทรงกระบอกแนวนอน และมีความลาดเอียง มีจุดเด่นและประสิทธิภาพ คือ ช่วยทุ่นแรงผู้ปฏิบัติงาน สามารถคัดแยกขนาดหมากได้ในระยะเวลาอันสั้น (20 กิโลกรัมต่อนาที) สามารถคัดได้จำนวน 3 ขนาด คือ เมล็ดขนาดใหญ่ มากกว่า 3 เซนติเมตร ขนาดกลางและขนาดเล็กน้อยกว่า 2.4 เซนติเมตร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอบแห้งและประหยัดพลังงานในการอบ เมื่อนำไปจำหน่ายเป็นหมากคัดขนาด จะได้ราคาดีขึ้น ทำให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น


“หมาก” เป็นไม้ยืนต้น จัดอยู่ในวงศ์ของปาล์ม มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมปลูกมากที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เมียนมา บังกลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา หมากจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัด มีปริมาณฝนพอเหมาะ ในประเทศไทยนิยมปลูกมากในแถบภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และระนอง ซึ่งเป็น 3 จังหวัดที่มีการปลูกต้นหมากมากที่สุด ต้นหมากที่สมบูรณ์จะให้ผลผลิตประมาณ 6-8 ทะลาย/ต้น/ปี หรือประมาณ 60 กก./ต้น/ปี ส่วนต้นหมากที่ไม่สมบูรณ์จะให้ผลผลิตประมาณ 2 ทะลาย/ต้น/ปี นิยมนำหมากไปแปรรูปใน 3 ประเภทธุรกิจ ทั้งในอุตสาหกรรม เครื่องสำอาง และรับประทาน ผลหมากมีสารจำพวกแอลคาลอยด์ ชื่อว่า สาร Arecoline ซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและเพิ่มแรงดันเลือด ผู้ที่เคี้ยวหมากจึงรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า หมากถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจ โดยใน ปี 2562 มีมูลค่าการส่งออก 2,029.17
ล้านบาท ปี 2563 มีมูลค่าการส่งออก 2,286.41 ล้านบาท และ ปี 2564 (ม.ค.-ต.ค. 2564) ตลาดส่งออกเติบโตสูงกว่าเท่าตัว โดยมีมูลค่า 4,714.18 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น