ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2566 อยู่บนความไม่แน่นอน มีความท้าทายสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนพลังงาน หนุนให้ราคาพลังงานในปีหน้ายังอยู่ในระดับสูงและผันผวนมาก มีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ปัญหาเงินเฟ้อ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ล้วนแต่ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยเองต้องเผชิญกับปัจจัยลบดังกล่าว แถมมีปัจจัยภายใน ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างของประชากรที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และการเมือง กล่าวได้ว่าเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤต
นับเป็นสิ่งท้าทายที่ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญ และวางแผนรับมือเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติเหล่านี้ไปให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมที่จะฉกฉวยโอกาสสร้างการเติบโตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และมีบรรษัทภิบาล (ESG)
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) (SCC) หรือ เอสซีจี บริษัทชั้นนำของไทยที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี ที่มีฐานการผลิตในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์และปิโตรเคมีทั้งในไทยและหลายประเทศในอาเซียนภายใต้แนวคิด ESG จนเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดช่วง 5 ปีนี้ เราเผชิญวิกฤติหลายต่อหลายครั้งเรียกได้ว่าเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าสหรัฐ-จีน การแพร่ระบาดโควิด-19 ปัญหาเงินเฟ้อ รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ส่งผลให้ราคาพลังงานดีดสูงขึ้น กระทบต้นทุนการผลิตทำให้ราคาสินค้าต่างๆแพง ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ จนต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง ทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยตามมา ขณะที่วิกฤติโลกร้อนก็เป็นอีกวิกฤติหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังและมีผลกระทบมากที่สุดเมื่อเทียบวิกฤติอื่นๆที่เจอมา
ดังนั้น ในช่วงวิกฤติซ้อนวิกฤตินี้ เราต้องเล่น 2 บทบาท คือ เอาตัวองค์กรให้อยู่รอดก่อน และหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน การที่จะบรรลุเป้าหมายได้ เราต้องเตรียมคนหรือบุคลากรให้พร้อม ที่ผ่านมาเอสซีจีให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นสำคัญ ควบคู่กับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ทำให้เอสซีจีเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และเติบโตอย่างยั่งยืนแม้ว่าจะเผชิญวิกฤติต่างๆก็ตาม โดยยอมรับว่าเอสซีจีเป็นองค์กรที่แปลก พอเกิดวิกฤตทีไรเราจะผ่านไปได้ด้วยดี
สำหรับธุรกิจใหม่ที่เอสซีจีจะทำมี 3 ธุรกิจ คือ
1. ธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวภาพหรือไบโอแมส รวมไปถึงพลังงานจากขยะ (Waste to energy) ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำที่เอสซีจีจะให้ความสำคัญ โดยการปรับปรุงเครื่องจักรในโรงงานในเครือธุรกิจ หรือแม้แต่สำนักงานใหญ่ที่บางซื่อเพื่อใช้พลังงานโซลาร์และไบโอแมสเพิ่มมากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน กล่าวได้ว่าเอสซีจีมีการพัฒนาทุ่นโซลาร์ลอยน้ำเป็นรายแรกๆของไทย โดยตัวทุ่นสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อผลิตเม็ดพลาสติก PCR ได้ ส่วนธุรกิจปลายน้ำ ได้แก่ ระบบโซลาร์ ไฮบริด โซลูชั่น ซึ่งเป็นการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ทั้งกลางวันและกลางคืนภายในบ้านตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ มีการจัดตั้ง SCG Cleanergy เป็นผู้ให้บริการพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตั้งแต่การขออนุญาต การติดตั้ง ดำเนินการ และบำรุงรักษา ตลอดจนเชื่อมต่อการซื้อขายกับการไฟฟ้า พร้อมทั้งการซื้อขายไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มเสมือนจริง (Virtual Trading Platform) เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้พลังงานทางเลือก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า
2. ธุรกิจ Better Living ทำให้คนมีความเป็นอยู่ สุข สบายภายในบ้าน หรือออฟฟิศ มีระบบที่เรียกว่า SCG HVAC Air Scrubber ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ให้กับระบบปรับอากาศและระบายอากาศภายในอาคาร (HVAC System) ด้วยระบบบำบัดอากาศเสีย พร้อมลดภาระการทำความเย็นของระบบปรับอากาศ ช่วยให้อากาศภายในอาคารสะอาด และประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้นรวมทั้งมีการนำเทคโนโลยี 3D printing มาใช้ในการออกแบบสินค้าที่มีรูปลักษณ์แปลกใหม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า และมีแฟลตฟอร์มที่ช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายและลดของที่เหลือมากเกินจำเป็นในการก่อสร้าง
3. ธุรกิจ Automation & AI (Artificial Intelligence) มาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยบริษัทได้จับมือกับไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เพื่อยกระดับศักยภาพบริษัทสู่องค์กรดิจิทัลครบวงจร ในการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ โดยโปรเจกต์ บอนไซ (Bonsai) ของไมโครซอฟท์ มาพัฒนาเทคโนโลยี “Digital Twin” หรือตัวแทนเสมือน ที่ช่วยประเมินผลเพื่อปรับรูปแบบการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนและลดอัตราการเกิดของเสีย ตลอดจนนำเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจในทุกขั้นตอน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ดังนั้น สิ่งสำคัญของภาคธุรกิจคือเร่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นหนทางรอดในอนาคต
ด้านบริษัทพลังงานแห่งชาติอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีการเตรียมความพร้อมรับมือกระแสการเปลี่ยนแปลงจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด โดยปตท.ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” การขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต ขณะเดียวกันยังคงยึดมั่นต่อพันธกิจในการดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ตอบสนองความคาดหวังของทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ปตท.กำหนดพอร์ตการลงทุนในธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ราว 30% ของงบลงทุนรวม เพื่อให้บรรลุหมายในปี 2573 สัดส่วนกำไรมากกว่า 30% ต้องมาจากกลุ่มพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มปตท.มีการอัดเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากในธุรกิจใหม่
นอกจากนี้ ปตท.ได้แสดงเจตนารมณ์ในการประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ.2583 (ค.ศ. 2040) และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ. 2050) เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆในกลุ่มปตท. ไม่ว่าจะเป็น บมจ. พีทีทีโกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) และบมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)
ส่วนบมจ. ไทยออยล์ (TOP) บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และบมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) ขยับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ออกไปนานขึ้นเป็นปี พ.ศ.2603 (ค.ศ.2060) แต่ก็เร็วกว่าเป้าหมายประเทศที่ประกาศต่อประชาคมโลก ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ Net Zero Emission ในปีพ.ศ.2608 (ค.ศ.2065)
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (PTT) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจพลังงานโลกเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด ทำให้ในปี 2564 ตัวเลขมูลค่าการลงทุนในการเปลี่ยนแปลงพลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 27% อยู่ที่ 755 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable)
สอดรับเป้าหมายของปตท.ที่เดินหน้าสู่พลังงานอนาคต (Future Energy) เน้นลงทุนพลังงานหมุนเวียน โดยวางเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 12,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storag) หรือแบตเตอรี่ เพื่อช่วยปิดข้อด้อยของพลังงานหมุนเวียน โดยมี GPSC ร่วมกับปตท.เป็นหัวหอกในการลงทุน รวมทั้งรุกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าตลอดซัปพลายเชน (EV value chain) ที่จับมือกับ Foxconn ตั้งโรงงานรับจ้างผลิตรถ EV ในไทยขึ้น พร้อมสยายปีกสู่พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งจะเห็นโครงการนำร่องเปิดสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแห่งแรกของไทยที่พัทยา จังหวัดชลบุรี ในปลายปีนี้
นอกจากนี้ ปตท.หันมาลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond) ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงสู่ธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากพลังงานและต้องสอดคล้อง New S-Curve ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Sciences) ทั้งยา (Pharmaceutical) โภชนาการ (Nutrition) และเครื่องมือทางการแพทย์ (Medical Devices) โดยปตท.ได้จัดตั้งบริษัทอินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ขึ้นมารับผิดชอบในการขยายธุรกิจนี้ โดยในช่วง 2 ปีนี้ เป็นธุรกิจที่มีการลงทุนและขยายตัวมากที่สุด ขณะเดียวกันมีบทบาทสำคัญในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรง โดยจับมือพันธมิตรจัดหายาฟาวิพิราเวียร์และยาเรมเดซิเวียร์ให้กับรัฐบาลไทย เพื่อช่วยยับยั้งอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 และล่าสุด ปตท.จัดตั้ง บริษัท อินโนบิก นูทริชั่น จำกัด (INNT) โดยถือหุ้นร้อยละ 100 ผ่านบริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง (INBL) จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจโภชนาการ (Nutrition) ทั้งในส่วนของโภชนเภสัช (Nutraceutical) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโภชนาการอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ตามอายุ เพศ หรือความต้องการด้านโภชนาการ รวมถึงเพื่อป้องกันโรค และในส่วนของโภชนาการทางการแพทย์ (Medical Nutrition) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการดูแลด้านโภชนาการ
ขณะเดียวกันเดินหน้าในธุรกิจที่เกี่ยวกับความคล่องตัวและไลฟ์สไตล์ (Mobility & Lifestyle) โดยมีบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เป็นหัวหอก ธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Business) ส่วนใหญ่กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีในเครือปตท.ดำเนินการ
ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน (Logistics & Infrastructure) ล่าสุดบริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ที่ปตท.ถือหุ้น 100% ได้จัดตั้งบริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) ขึ้นมาประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ เน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของไทย รวมถึงระบบขนส่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศ การบริหารจัดการคลังสินค้า ห้องเย็น เป็นต้น และการพัฒนาธุรกิจด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (AI & Robotics Digitalization) มีปตท.สผ.เป็นหัวหอกในการรุกธุรกิจดังกล่าว
การวางกรอบการดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท.อย่างชัดเจน และตั้งมีเงื่อนเวลามาชี้วัดถึงความสำเร็จ เบื้องต้นได้กำหนดว่าในปี 2573 ปตท.จะมีกำไรมาจากกลุ่ม Future Energy และธุรกิจใหม่ (Beyond )สูงถึง 60,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 30% ของกำไรสุทธิรวมที่ 200,000 ล้านบาท (ปี 2564 ปตท.มีกำไรสุทธิ 108,363 ล้านบาท) ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจยา ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งธุรกิจการสร้างมูลค่าเพิ่มกลุ่มปิโตรเคมี
สำหรับแนวโน้มราคาพลังงานโลกในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงต่ำกว่าปีนี้ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 85-95 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนก๊าซธรรมชาติเช่นกันที่ตะเห็นราคาปรับลง ทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากราคาพลังงานสูงไม่รุนแรงเท่ากับปีนี้ คงทำให้ภาคเอกชนเบาใจได้เปลาะหนึ่ง แต่ก็อาจนิ่งนอนใจได้ ดังนั้นการสำรองสภาพคล่องให้เพียงพอเพื่อรองรับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญ