ซีอีโอซีพีเอฟ “ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” ร่วมแสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนองค์กรบนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ในงาน “Sustainability Forum 2022 : The People and the Planet” จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โดยได้อภิปรายพิเศษ ในหัวข้อ “The Responsibility : Sustainability as Core Corporate Strategy" ณ โรงแรมอนันตรา สยาม
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ความยั่งยืนในธุรกิจไม่ใช่แค่การผลิตและขายสินค้า แต่เป็นการยกระดับธุรกิจที่จะทำให้สังคม ประเทศ และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ภายใต้หลัก ESG (Environmental Social Governance) ซึ่งสอดคล้องกับ "ปรัชญา 3 ประโยชน์" ที่เครือซีพีและซีพีเอฟยึดเป็นแนวปฏิบัติ และเป็นปรัชญาที่ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ดำริไว้และใช้ในการทำธุรกิจมาอย่างยาวนาน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ประโยชน์ต่อสังคม และประโยชน์ของบริษัท
ซีพีเอฟมีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมานานแล้ว เรามีความเป็น Circular Economy ในตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกเป็นความท้าทายและเป็นเรื่องใหญ่มาก ซีพีเอฟจึงให้ความสำคัญต่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) เป็นกลยุทธ์ (Strategy) หลักในการดำเนินงาน และมุ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องการใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ในปี 2022 ซีพีเอฟได้ประกาศยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100% (Coal Free 2022 ) สำหรับกิจการในประเทศไทย การตั้งทีมงานพิเศษขึ้นเพื่อติดตามเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงชวนซัปพลายเออร์ที่มีอยู่ในพอร์ต ตระหนักรู้และให้ความสำคัญในเรื่องนี้
ซีพีเอฟยังได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต อาทิ ได้ประกาศความมุ่งมั่นว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า และกำหนดเป้าหมายในการจัดซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรหลักที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด ปลาป่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง ร้อยละ 100 จากการจัดหาทั่วโลกของซีพีเอฟ จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้และมาจากพื้นที่ที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ภายในปี 2573 รวมทั้งวางแนวทางการตรวจสอบพื้นที่การเกษตรเพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดิบจะไม่มาจากแหล่งที่บุกรุกหรือตัดไม้ทำลายป่า
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ได้นำความสำเร็จจากการดำเนินโครงการด้านความยั่งยืน เป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบริษัทเอกชนชั้นนำ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรรายย่อย (คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง) คือการใช้ Biogass ในฟาร์มสุกร ที่สามารถผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์มเป็นฟาร์มสุกรที่เป็นกรีนฟาร์ม ไม่ปล่อยกลิ่นหม็นเป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้า และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายประสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า "ซัปพลายเชน" เป็นอีกประเด็นสำคัญในเรื่องความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งปัจจุบัน ซีพีเอฟ มีคู่ค้ามากกว่า 10,000 บริษัทในประเทศไทย และในช่วงที่เกิดวิกฤตสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ได้ดูแลซัปพลายเออร์ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยลดระยะเวลาเครดิตเทอมจาก 45-60 วันเป็น 30 วัน และล่าสุด ซีพีเอฟ ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ ดำเนินโครงการสนับสนุนคู่ค้าจำนวน 1 หมื่นราย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ เป็นความร่วมมือผ่านบริการสินเชื่อหมุนเวียนของธนาคารกรุงเทพ ส่วนในปีหน้าจะมีการตั้งทีมทำงานเป็น Engineering Consulting เพื่อให้คำปรึกษาและคำแนะนำกับซัปพลายเออร์ในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net-Zero Emission เป็นเรื่องของความยั่งยืนที่บริษัทจะร่วมมือกับซัปพลายเชนอย่างต่อเนื่อง
ซีพีเอฟมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ นอกจากบริษัทจะทำหน้าที่ในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังร่วมดูแลสังคม และดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” จังหวัดลพบุรี ซึ่งปลูกป่าไปแล้ว 7,000 ไร่ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง และตราด เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรบนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน