ก.เกษตรฯ จับมือเซ็นทรัลแล็บไทย หนุนผู้ประกอบการสร้างมาตรฐาน “กระท่อม” สู่ตลาดตะวันออกกลาง
ดร.สกุล เกียรติ์จีรวิรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ประภัตร โพธสุธน) และผู้บริหาร บริษัท บุญมงคล 2019 จำกัด นำคณะผู้ประกอบการพืชสมุนไพรกระท่อมจากประเทศไทย และต่างชาติ จากมหานครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศมาเลเซีย ที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องมาตรฐานสินค้า เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการทดสอบ สำนักงานสาขากรุงเทพฯ โดยมี นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (เซ็นทรัลแล็บไทย) ให้การต้อนรับ พร้อมหารือด้านการพัฒนากระบวนการทดสอบพืชกระท่อมให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการจัดจำหน่ายไปยังต่างประเทศ
ดร.สกุลกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มพืชเศรษฐกิจ หลังจากที่มีการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ทำให้พืชกระท่อมเป็นพืชสมุนไพรตัวใหม่ที่ทำเงินได้มหาศาล ด้วยคุณสมบัติหลายด้าน ทั้งในทางการแพทย์ เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม ในฐานะที่กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งเซ็นทรัลแล็บไทยตั้งแต่ปี 2546 เพื่อรองรับการถ่ายโอนงานภาครัฐ และสนับสนุนงานทางห้องปฏิบัติการ จึงมั่นใจในศักยภาพ มาตรฐาน ความถูกต้องแม่นยำ และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจทดสอบสินค้าทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ
“สำหรับการออกหลักเกณฑ์การสุ่มตัวอย่าง เพื่อใช้ประกอบการออกให้ใบรายงานผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสินค้า หรือ Certificate of Analysis (COA) ที่ผู้ผลิตตรวจสอบ ทดสอบ และรับรองให้กับผู้ซื้อ ตามล็อตการผลิตนั้นๆ เทียบกับค่ามาตรฐาน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการในการส่งออกนั้น จะได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ” ดร.สกุลกล่าว
ด้านนายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการเซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการ โดยปีนี้มีการลงทุนเครื่องมือขั้นสูงเพื่อรองรับการตรวจทดสอบรายการใหม่ๆ ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของภาครัฐและผู้ประกอบการ สำหรับพืชเศรษฐกิจในกลุ่มสมุนไพร ทั้งกัญชา กัญชง และกระท่อม ถือเป็นสินค้าใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเซ็นทรัลแล็บไทยได้รับใบอนุญาตในการตรวจคุณภาพพืชกระท่อมถูกต้องตามกฎหมาย โดยสามารถตรวจหาสารสำคัญในพืชกระท่อม คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) และเซเวนไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่ผู้ผลิตสามารถไปนำใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้ เช่น ทางการแพทย์ หรือนำไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถให้การตรวจคุณภาพระหว่างกระบวนการปลูกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในคุณภาพของผลผลิตจากพืชกระท่อม
ขณะที่ นายรีกรือลี เจะแว ประธานที่ปรึกษาธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท ดีน่า ฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ศึกษาและติดตามนโยบายภาครัฐถึงแนวทางการพัฒนาพืชเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพืชกระท่อม ซึ่งถือเป็นพืชมหัศจรรย์ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่หลากหลาย และในทางเศรษฐกิจก็เป็นที่ยอมรับจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง เนื่องจากไม่ผิดกฎหมายทั้งไทยและในการนำเข้าประเทศ อีกทั้งไม่ขัดหลักศาสนาอิสลามสามารถใช้พืชกระท่อมได้ ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียเท่านั้นที่มีการส่งออกสินค้าจากกระท่อม แต่หลังจากที่ประเทศไทยปลดล็อกแล้ว จึงถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการและเกษตรกร เพราะผลการศึกษาระบุว่า กระท่อมไทยมีค่าสารสำคัญไมทราไจนีนสูง ดังนั้น จะต้องเร่งทำตลาดผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบคือพืชกระท่อมของไทยสู่ตลาดโลก โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคหรือมวลมนุษยชาติเพราะประโยชน์ที่มีมากมาย ฉะนั้นสิ่งที่คำนึงถึงคือความเป็นมาตรฐาน ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ปัจจัยการผลิต ดิน/น้ำ/อากาศ และมาตรฐาน GAP, GMP และการแปรรูปอื่นๆ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกและผลิตกระท่อมที่ดีที่สุดในโลก