GPSC จับมือเทศบาลเมืองมาบตาพุด และภาคีเครือข่ายโครงการฟื้นป่ารักษ์น้ำเขาห้วยมะหาด เพื่อรักษาผืนป่าและเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียว ภายใต้ “โครงการปลูกป่าเขาห้วยมะหาดและบำรุงรักษา ปีที่ 9” เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อดูดซับคาร์บอน สร้างความสมดุลระบบนิเวศในการอยู่ร่วมกันของชุมชน อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ขององค์กรในปี 2060
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า วันนี้ (30 กันยายน 2565) GPSC ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองมาบตาพุด และภาคีเครือข่ายโครงการฟื้นป่ารักษ์น้ำเขาห้วยมะหาด อ.เมือง จ.ระยอง ดำเนิน “โครงการปลูกป่าเขาห้วยมะหาดและบำรุงรักษา ปีที่ 9” ในพื้นที่ ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.ระยอง โดยร่วมกับเครือข่ายในจังหวัด เช่น หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน คู่ค้า และพนักงานจิตอาสาของบริษัทฯ กว่า 100 คน เพื่อร่วมฟื้นฟูป่าต้นน้ำและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช พร้อมสร้างความสมดุลแก่ระบบนิเวศใกล้แหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการอยู่ร่วมกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาจังหวัดระยองสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยโครงการดังกล่าวเป็นการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ป่าในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะเป็นกลไกสำคัญของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ให้บรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2060
สำหรับแผนการดำเนินโครงการฯ เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบการปลูกเสริมพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแปลงที่ 3 จำนวน 7 ไร่ โดยการนำพันธุ์ไม้จำนวน 15 ชนิด เพื่อเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์พืช ได้แก่ พันธุ์ไม้ป่าจำนวน 13 ชนิด มีคุณสมบัติในการดูดซับคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองโตช้าจำนวน 900 ต้น และยังมีการปลูกพืชพันธุ์ไม้พื้นล่างประเภทสมุนไพร 2 ชนิดจำนวน 100 ต้น ซึ่งสามารถประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนสะสมรวมแปลงที่ 1 และแปลงที่ 2 ที่ได้ปลูกก่อนหน้านี้ รวมกับแปลงที่ 3 ดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ได้ทั้งสิ้นประมาณ 524 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ให้ชุมชนรอบพื้นที่ป่า ด้วยการปลูกพืชสมุนไพรที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน