xs
xsm
sm
md
lg

“ไบเดน” ไม่มาประชุม APEC ไม่ล่ม! "ส.อ.ท." เดินหน้าชง 4 ข้อเสนอร่วมฟื้น MSMEs

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประธาน ส.อ.ท.” เผยกรณี โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ร่วมประชุม APEC แม้จะรู้สึกเสียดายแต่การประชุมยังคงเดินหน้าตามปกติ พร้อมชง 4 ข้อเสนอ จับมือ 21 เขตเศรษฐกิจร่วมปลุกชีพ MSMEs

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากสำนักข่าวต่างประเทศที่รายงานข่าวระบุว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 ได้นั้นเนื่องจากติดภารกิจเรื่องครอบครัว รวมถึงผู้นำบางประเทศที่ยังไม่ตอบรับคำเชิญ ว่า ส.อ.ท.รับทราบและเข้าใจว่าผู้บริหารบางรายอาจมีภารกิจเข้าร่วมไม่ได้ ซึ่งก็ถือว่า “น่าเสียดาย” แต่ไม่ทำให้การประชุมไปต่อไม่ได้หรือล่ม เพราะมีการส่งผู้แทนเข้าร่วมและอำนาจการตัดสินใจก็ไม่น่ามีปัญหาเช่นกัน

“ภายใต้สถานการณ์ขณะนี้เวทีการประชุม APAC ครั้งนี้ หากผู้นำทุกฝ่ายให้ความสำคัญ มันคือดีที่สุด การที่ผู้นำมาประชุมเองคือตัวจริงเสียงจริง การเจรจาจะมีจุดสรุปขับเคลื่อนได้ และถ้าทุกเขตเศรษฐกิจยึดมั่นมองในทิศทางเดียวกัน ไม่มีการเมืองมาเสริมมันจะไม่เบี่ยงประเด็นไป เพราะการเมืองแต่ละประเทศทวีความรุนแรง เราควรเอาเรื่องปากท้องมาคุยกัน ก็หวังในทุกระดับโฟกัสเรื่องเดียวกัน” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ (ABAC) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาคเอกชนภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ที่ให้คำแนะนำด้านการดำเนินภาคธุรกิจแก่ผู้นำและคณะประชุม APAC จึงเตรียมนำประเด็นปัญหาของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs - Micro, Small and Medium Enterprise) เสนอแนะแก่คณะรัฐมนตรีของแต่ละเขตเศรษฐกิจในการส่งเสริม 4 ด้านหลัก คือ

1. ส่งเสริมการปรับตัวในยุคดิจิทัล ผู้ประกอบการจะต้องนำดิจิทัลและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาปรับใช้กับ MSMEs เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นในการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคต่อการปรับตัวทางด้านดิจิทัลยังคงพบได้จากการขาดทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล การขาดการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ตลอดจนการมีกฎระเบียบและกฎการค้าที่แตกต่างกันในแต่ละเขตเศรษฐกิจ ฯลฯ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ MSMEs จะต้องได้รับการฝึกฝนทักษะทางด้านดิจิทัลเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนไป

2. ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน (Sustainable practice) เพื่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว รวมถึงการเข้าสู่กระบวนการการผลิต ให้เป็นไปตามทิศทางกระแสโลกที่มุ่งสู่การเป็น BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) โดยกลุ่ม MSMEs จะต้องปรับตัวให้สอดรับกับแนวโน้มกระแสโลกดังกล่าว โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าใหม่ (New value) และความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้น

3. ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลสำหรับสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ ซึ่งจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงด้านการเงินสำหรับ MSMEs นอกจากนี้ บริการทางการเงินด้วยระบบอัตโนมัติ จะช่วยให้การประมวลผลทางธุรกรรมสินเชื่อทำได้สะดวกขึ้น ลดต้นทุน และจำนวนเงินกู้ที่ไม่สูงนักก็ช่วยให้ธนาคารสามารถดำเนินการอนุมัติได้อย่างสะดวกและเร็วขึ้น

4. ส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น ประเด็นนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ (ABAC) ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพด้านดิจิทัล การเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของสตรีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ การระดมกลุ่มเยาวชน การพัฒนาเศรษฐกิจของชนพื้นเมือง ตลอดจนมาตรฐานการกำกับดูแลและความยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ MSMEs สามารถเอาชนะอุปสรรคและข้อจำกัดด้านการผลิต ตลอดจนช่วยกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจได้อย่างยืดหยุ่น ครอบคลุม และสมดุลในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น