xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ชูมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนแก้รถติด คาดชงคมนาคมปีนี้ พร้อมหนุนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.ชูเดินหน้ามาตรการแก้รถติด ลดมลพิษเร่งศึกษามาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในพื้นที่แออัด พร้อมเปิดรับฟังเสียงประชาชน คาดชงคมนาคม พิจารณาภายในปีนี้ ขณะที่จับมือเยอรมนีพัฒนามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการขนส่ง ตั้งเป้าลด 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ในปี ค.ศ. 2030

วันที่ 26 ก.ย. 2565 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาปิดโครงการสนับสนุนการพัฒนามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายของภาคการขนส่ง (TRANSfer III-Facilitating the Development of Ambitious Mitigation Actions) เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จของความร่วมมือในการส่งเสริมการขนส่งที่สะอาดและยั่งยืนของประเทศไทย โดยมี Mr. Georg Schmidt เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย Mr. Daniel Bongardt ผู้อำนวยการโครงการ TRANSfer, GIZ ผู้แทนกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพอากาศของรัฐบาลกลางสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำหน้าที่กล่าวรายงานและเข้าร่วมการเสวนา ในหัวข้อ “การดำเนินการในภาคการขนส่งเพื่อมุ่งสู่การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” พร้อมด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมการสัมมนาปิดโครงการฯ ประมาณ 100 คน

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ เช่น การขยายเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการปรับปรุงการใช้รถโดยสารประจำทาง โดยการเปลี่ยนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยกระทรวงคมนาคมได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions: NDC) ภายในปี 2030 และหากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศไทยจะมาสามารถยกระดับเป้าหมาย NDC ขึ้นเป็น 40% และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในหรือก่อนหน้าปี 2065 ตามที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ได้

Mr. Georg Schmidt กล่าวเพิ่มเติมว่า ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นแรงผลักดันไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง และเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศเยอรมนี ในโอกาสครบรอบ 160 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมัน แม้ว่าตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่งเริ่มเติบโตในระดับโลกและในประเทศไทย รัฐบาลควรจะพิจารณาให้การสนับสนุนการลงทุน และสร้างรูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสมสำหรับการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน โดยความร่วมมือจากนานาชาติ และการสนับสนุนผ่านด้านเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผอ.สนข. กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สนข. และ GIZ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันในการศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาการขนส่งที่มีความท้าทาย เช่น การจราจรติดขัด และการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และถึงแม้ว่าการดำเนินโครงการ TRANSfer กำลังจะสิ้นสุดลง แต่ สนข.จะยังมุ่งมั่นที่จะสานต่อการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้โครงการ TRANSfer ต่อไป เช่น การศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่การจราจรหนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานคร และแนวทางการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะเพื่ออากาศสะอาดเพื่อปรับปรุงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และการที่ สนข.ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือกับโครงการ TRANSfer นั้น เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการขนส่งที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นของโครงการ พบว่าหากมีการดำเนินมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนจะสามารถช่วยลดปริมาณการจราจรติดขัดและมลพิษทางอากาศ เพิ่มความเร็วในการเดินทางและจำนวนผู้ใช้งานระบบขนส่งสาธารณะ จากการวิเคราะห์ทางการเงินพบว่า ต้นทุนการเป็นเจ้าของรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า ต่ำกว่ารถโดยสารประจำทางที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงถึง 23% เนื่องมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าที่ต่างกันถึง 3 เท่า และหากมีการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า 3,200 คันได้ ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 184,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

“ในการศึกษา ได้ทดลองนำโมเดลในต่างประเทศที่ใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่การจราจรหนาแน่นมาวิเคราะห์ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่าหากใช้มาตรการดังกล่าว จะลดปริมาณจราจรลง 20% ลดค่าฝุ่น PM 2.5 ในอัตรา 3-3.6% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อีก 1-6.5 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี โดยยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ประเมินอัตราที่เหมาะสมเริ่มต้น 60 บาทต่อคัน โดยอ้างอิงจากราคาค่าผ่านทางด่วนที่ประชาชนยอมรับ โดย สนข.จะศึกษาความเหมาะสมอย่างรอบคอบ และเตรียมลงพื้นที่พร้อมรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเสนอผลการศึกษาต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ภายในปีนี้ ส่วนจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไรอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล”








กำลังโหลดความคิดเห็น