โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ที่ได้ผู้ผ่านการคัดเลือก 43 ราย รวมกำลังผลิต 149.50 เมกะวัตต์ยังไม่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟ หลังล่าสุดสำนักงาน กกพ.ประกาศเลื่อนกรอบเซ็นสัญญาอีกครั้งเป็นรอบที่ 5 อีก 90 วันนับตั้งแต่ 30 ก.ย. ส่งผลให้โครงการนี้ถูกเลื่อนลงนานรวมเวลาทั้งสิ้น 15 เดือน
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักงาน กกพ.ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงกรอบระยะเวลาลงนามซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) เป็นครั้งที่ 5 โดยให้เลื่อนออกไปอีก 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นไปตามมติ กกพ.ที่เห็นชอบก่อนหน้านั้น
แหล่งข่าวจากวงการพลังงานระบุว่า การประกาศครั้งนี้ทางสำนักงาน กกพ.ไม่ได้อ้างถึงเหตุผลใดๆ ต่อการเลื่อนระยะเวลาลงนามซื้อขายที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะเป็นเหตุผลเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านๆ มาที่อ้างเหตุผลมาจากตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร้องขอ เนื่องจากมีผู้ไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ หรือโดยทุจริต กรณีคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการบางรายหรือฮั้วประมูลและ ป.ป.ช.ได้ลงทะเบียนรับเรื่องกล่าวหาตั้งแต่ 5 ต.ค. 64 และ กฟภ.ได้ส่งเอกชนชี้แจงไปในช่วง มี.ค. 65 จึงต้องรอผลการพิจารณาของ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ การเลื่อนการลงนามดังกล่าวเป็นเวลา 5 ครั้ง กินเวลานาน 15 เดือน โดยนับตั้งแต่สำนักงาน กกพ.ประกาศผลการคัดเลือกเอกชน 43 ราย ชนะการแข่งขันเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ นำร่อง จำนวน 149.50 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 150 เมกะวัตต์ เมื่อเดือนกันยายน 2564 แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวลจำนวน 16 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 75.00 เมกะวัตต์ ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 2.7972 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทก๊าซชีวภาพรวม 27 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 74.50 เมกะวัตต์ ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.5717 บาทต่อหน่วย จนถึงปัจจุบันยังไม่อาจลงนามสัญญาได้
ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ประธานที่ปรึกษา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์ช้าง รักษ์ป่าตะวันออก กล่าวแสดงความเห็นว่า เพื่อลดผลกระทบจากการเลื่อนการเซ็นสัญญา เห็นควรที่จะให้มีการลงนามในสัญญาโดย กฟภ. สำหรับบริษัทที่ได้รับการประกาศรายชื่อและไม่ถูกร้องเรียนในครั้งนี้โดยทันที เพราะไม่มีความผิดและไม่ได้ถูกร้องเรียนแต่ประการใด พร้อมกับพิจารณาในการขอย้าย Feeder หากจำเป็น อันเนื่องมาจากการจัดหาที่ดินที่อาจมีปัญหา
“มุมมองส่วนตัวของผมแล้ว เรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ และน่าจะมีผลกระทบต่อเจ้าของโครงการด้วยเหตุผล เมื่อ ป.ป.ช.รับเรื่องและตรวจสอบเบื้องต้นแล้วก็จะต้องตรวจสอบและเสนอความเห็น ก็อาจเป็นไปได้ที่ผู้ร้องเรียน หรือเจ้าของโครงการไม่พอใจผลการตัดสินก็อาจนำร้องเรียนต่อศาลปกครองต่อไป ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี รวมถึงอาจมีผลต่อการวางมัดจำซื้อที่ดินในการสร้างโรงไฟฟ้า เพราะทราบว่ามีการขอขึ้นราคา หรือไม่ขายที่ดินให้ เพราะเลยกำหนดการวางมัดจำแล้ว ฯลฯ” ม.ร.ว.วรากรกล่าว