xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสของโซลาร์รูฟท็อป! “พพ.” ปลดล็อกขั้นตอนพิจารณาให้เร็วขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พพ.หนุนกระแสติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมาแรง ปรับลดกระบวนการให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตไฟฟ้ารวดเร็วยิ่งขึ้นจากเดิมขั้นตอนกว่า 60 วันเหลือไม่เกิน 30 วัน หวังเอื้อให้ประชาชนรับมือค่าไฟแพง

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิด
เผยหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงการปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นการออกแบบใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ รวมกว่า 500 ราย ว่า ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดให้ผู้ที่จะผลิตไฟฟ้าขนาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 200 kVA ขึ้นไป (ประมาณ 200 กิโลวัตต์) ต้องมีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ (พค.1) และแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมต่อ กกพ. และทาง กกพ.นำส่ง พพ.พิจารณาให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) เพื่อความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะติดตั้ง อย่างไรก็ตาม มีผู้ยื่นคำขอใบอนุญาต พค.2 จำนวนมาก พพ.จึงได้พิจารณาปรับลดขั้นตอนดังกล่าวเพื่อให้ผู้ยื่นคำขอได้มีการผลิตและใช้พลังงานที่เร็วขึ้น

"ที่ผ่านมามีการยื่นคำขอใบอนุญาต พค.2 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 150 รายต่อเดือน โดยกว่า 80% เป็นคำขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป ทำให้กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นเดิมไม่สามารถรองรับต่อปริมาณคำขอที่เพิ่มขึ้น พพ.จึงได้มีการปรับลดกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นอนุญาต พค.2 ใหม่ด้วยการใช้วิธีรองรับข้อมูลด้วยตนเองโดยวิศวกรที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ พพ. (Self Declaration) ซึ่งจากเดิมกระบวนการให้ความเห็นของ พพ. จะใช้เวลาในการตรวจแบบส่งข้อมูลและตรวจแบบด้วยการ live ณ สถานที่ติดตั้ง, ตรวจหน้างานจริง (non-solar) รวมเวลากว่า 60 วัน ให้เหลือไม่เกิน 30 วัน" นายประเสริฐกล่าว


ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการผลิตพลังงานควบคุมเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้อง พพ.จึงได้ออกประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ประกอบการให้ความเห็นการออกใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุมต่อ กกพ. และประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง การรับขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับจะช่วยให้เกิดความคล่องตัว และทันต่อสถานการณ์การปรับตัวต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น