“สุพัฒนพงษ์” ลั่นสัปดาห์นี้ได้ข้อสรุปเงินช่วยเหลือจากกลุ่มโรงกลั่นเพื่อบรรเทาราคาน้ำมันแพง โดยรูปแบบอาจจะไม่ใช่การนำกำไรส่วนเกินค่าการกลั่นนำส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่อาจจะเป็นรูปแบบการบริจาคด้วยความสมัครใจ อ้างบริษัทต้องมีธรรมาภิบาล
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจากลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันเพื่อนำส่งกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อบรรเทาราคาน้ำมันแพงว่า รอคำตอบที่ชัดเจนจากโรงกลั่นน้ำมันในสัปดาห์นี้ว่าจะร่วมมือช่วยเหลือประชาชนในการลดราคาพลังงานอย่างไร โดยรูปแบบอาจจะไม่ใช่การนำกำไรนำส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่อาจจะเป็นรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะเป็นรูปแบบการบริจาคหรือไม่ก็อยู่ในระหว่างหารือกัน
โดยมีการสอบถามไปทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในแนวทางการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย ซึ่งการขอความร่วมมือนี้ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องได้เงิน 2 หมื่นล้านบาทภายใน 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.) แต่อย่างใด แต่หากได้รับเงินความช่วยเหลือก็จะทำให้ชะลอการปรับขึ้นราคาน้ำมันโดยเฉพาะดีเซลในสัปดาห์หน้าจากปัจจุบันราคาดีเซลอยู่ที่ประมาณ 35 บาท/ลิตร
"ขณะนี้รอคำตอบจากโรงกลั่น เป็นความร่วมมือโดยสมัครใจ อยากให้คิดให้ดีแม้เป็นกลไกตลาดเสรีแต่ในยามที่ประชาชนเดือดร้อน บริษัทที่มีธรรมาภิบาลก็ควรให้ความช่วยเหลือกันเพราะภาคสังคม ประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไมใช่คำนึงแค่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น" รมว.พลังงานกล่าว
ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ติดลบกว่า 1 แสนล้านบาทจากการอุดหนุนราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม หากยังอุดหนุนจะติดลบราว 2 แสนล้านบาทหรือไม่นั้น ขณะนี้กระทรวงฯ กำลังพิจารณาการลดวงเงินอุดหนุน เช่น การช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางเท่านั้น ก็ต้องดูว่าจะใช้กลไกใดมาดำเนินการ ส่วนเรื่องกองทุนฯ กำลังจะขาดสภาพคล่องนั้น ทางกระทรวงการคลังก็กำลังร่วมพิจารณาว่าหาเงินส่วนใดมาเสริมสภาพคล่องจะมีคำตอบชัดเจนในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวในงานเสวนา FTI Expo 2022 วันนี้ (30 มิ.ย.)ว่า รัฐบาลเร่งเดินหน้าสู่แผนความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งในแง่เศรษฐกิจแล้วไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 350 ล้านตัน หากไทยไม่ลดก็จะถูกเก็บภาษีคาร์บอนคิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านบาท/ปี
โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันลดการปลดปล่อยทุกภาคส่วน หนึ่งในแนวทางนั้นคือลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์ในอนาคต ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะช่วยให้ไทยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ
การเดินหน้าตามแผนความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 ทำให้เกิดอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามมา ซึ่งช่วยสร้างอาชีพด้วย อาทิ โรงงานผลิตรถอีวี ซึ่งขณะนี้มีค่ายรถยนต์ 3 รายเข้าร่วมโครงการอีวีที่ภาครัฐสนับสนุน ล่าสุดกำลังจะมีรายใหม่ระดับโลกอันดับที่ 5 ที่จะเข้าโครงการด้วย
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการ 6 โรงกลั่นยังอยู่ระหว่างการเจรจากับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางดำเนินการเพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกัน โดยเบื้องต้นมองว่าภาครัฐควรจะต้องออกระเบียบ กติกา หรือข้อกฎหมายขึ้นมารองรับการดำเนินงานให้เกิดความชัดเจน และตอบข้อสงสัยของทุกฝ่ายได้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟ้องร้องตามมา ขณะเดียวกัน การเก็บส่วนต่างจากกำไรค่าการกลั่นอาจใช้กฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ เข้ามาดำเนินการได้ แต่ก็ต้องรอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ถี่ถ้วน อาจออกกฎหมายลูกขึ้นมารองรับด้วย ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการสักระยะ ดังนั้น ตามแผนเดิมที่ภาครัฐต้องการให้ทั้ง 6 โรงกลั่นเริ่มดำเนินการจัดส่งส่วนต่างค่าการกลั่นเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯ 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.นั้น ก็อาจจะต้องขยับระยะเวลาดำเนินการออกไปจนกว่าการพิจารณาข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อมารองรับการดำเนินการจะแล้วเสร็จ
ประเทศไทยมี 6 โรงกลั่นน้ำมัน ประกอบด้วย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP, บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO และบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC