กรมการขนส่งทางราง ออกประกาศมาตรการลดความเสี่ยงจากโควิด 19 ขอความร่วมมือผู้โดยสารใส่หน้ากากอนามัยตามคำแนะนำก.สาธารณสุข ส่วนเจ้าหน้าที่ ต้องใส่ตลอดเวลาและตรวจ ATK อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ได้ลงนามในประกาศกรมการขนส่งทางรางเรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้านการจัดการระบบขนส่งทางรางรองรับการเปิดประเทศและส่งเสริมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
โดยให้แจ้งให้ผู้โดยสารทราบข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขที่แนะนำให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในระบบเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อ
ทั้งนี้ เป็นการขอความร่วมมือผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบราง ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในระบบ ที่เป็นพื้นที่จำกัด ยอมรับว่าไม่สามารถบังคับได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้บังคับ ส่วนผู้ปฎิบัติงานเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการในระบบราง ยังคงให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยง
สำหรับประกาศกรมการขนส่งทางราง ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ โดยกรมการขนส่งทางรางได้มีประกาศ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้านการจัดการระบบขนส่งทางรางรองรับการเปิดประเทศและส่งสริมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
และต่อมานายกรัฐมนตรีได้ประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 46) ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ประกอบกับคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 12/2565สั่ง ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565 กำหนดพื้นที่สถานการณ์ให้ทุกเขตพื้นที่จังหวัดทั่วราชอาณาจักรเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 13/2565 สั่ง ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ซึ่งมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่กับการคงดำเนินมาตรการที่จำเป็นสำหรับป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งเพิ่มมาตรการ
เฝ้าระวังโรคต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อควบคุมการระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นั้นเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น
กรมการขนส่งทางรางจึงออกประกาศ เรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้านการจัดการระบบขนส่งทงรางรองรับการเปิดประเทศและส่งเสริมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยให้ยกเลิกความในข้อ 2 ตามประกาศกรมการขนส่งทางราง ณ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2565เรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้านการจัดการระบบขนส่งทางรางรองรับการเปิดประเทศและส่งเสริมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
ข้อ 2 ขอความร่วมมือหน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบถือปฏิบัติมาตรการพึงปฏิบัติเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้านการจัดกรระบบขนส่งทางรางรองรับการเปิดประเทศและส่งเสริมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) การหมั่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในสถานีและขบวนรถ โดยเฉพาะบริเวณจุดมือสัมผัสและเหรียญดยสาร และกำหนดให้มีแนวทางที่เหมาะสมในการคัดแยกและกำจัดขยะ
(2) จัดให้มีจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์และขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังการใช้บริการ
(3) ประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารทราบข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขที่แนะนำให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในระบบเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อ
(4) ให้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า รวมทั้งตรวจคัดกรองโรคด้วยชุดตรวจ COVID-19 Antigen Test Self-Test Kits : ATK สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการที่มีการติดต่อโดยตรงกับผู้โดยสาร อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
(5) กรณีสถานีรถไฟที่มีต้นทางหรือเป็นช่องทางเข้า-ออกระหว่างประเทศให้ยกเลิกมาตรการคัดกรองอุณหภูมิและอาการทางเดินหายใจ
ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปประกาศ ณ วันที่ 24เดือน มิถุนายน พ.ศ. 256
โดยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แนะนำการถอดหน้ากากอนามัย ได้แก่ เมื่ออยู่คนเดียว.,ออกกำลังกาย,กิจอาหาร. ดื่มน้ำ ,อยู่บริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก, อยู่นอกอาคาร ที่โล่งแจ้ง, อยู่ในอาคาร เว้นระยะห่างได้
โดยผู้ที่ควรใส่หน้ากากตลอดเวลา ได้แก่ กลุ่ม 608 ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรถ์ ผู้ที่ไม่ได้วัคซีนป้องกันโควิด 19 ครบตามเกณฑ์ ผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น ผู้ปฎิบัติหน้าที่ให้บริการ หรือใกล้ชิดผู้อื่น