xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ลงนามประกาศ กทม.ปลดล็อกมาตรการควบคุมโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชัชชาติ” ลงนามประกาศ กทม. ปลดล็อกมาตรการควบคุมโควิด ให้ใส่หน้ากากอนามัยตามความสมัครใจ เคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวข้ามเขตได้ ร้านอาหารสามารถจำหน่ายสุรา

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

โดยมีใจความว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันได้คลี่คลายและมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น จนสามารถผ่อนปรนบรรดามาตรการและข้อจำกัดต่างๆ ให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติ รวมถึงการผ่อนคลายข้อจำกัด เรื่องการเดินทางเพื่อสอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล เพื่อรับผู้เดินทางจากทั่วโลก การดําเนินการตามแผน และมาตรการจัดการด้านสาธารณสุขทั้งหลายนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-Pandemic ที่จะประกาศให้เป็นโรคติดต่อทั่วไป

ในการนี้ รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุข จึงเห็นสมควรพิจารณาปรับลดระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ปัจจุบันและการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่กับการคงดําเนินมาตรการที่จําเป็น สําหรับป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อควบคุมการระบาด ของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ดังนั้น เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามข้อกําหนดดังกล่าว อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34(2) และมาตรา 35(1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2554 (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

1. ให้ยกเลิก

1.1 ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 49) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565 (ฉบับที่ 50) ลงวันที่ 22 มกราคม 2565 (ฉบับที่ 51) ลงวันที่ 14 มีนาคม 2565 (ฉบับที่ 52) ลงวันที่ 30 เมษายน 2565 และ (ฉบับที่ 53) ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

1.2 ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก ลงวันที่ 25 เมษายน 2564

1.3 ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2564

2. การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ โดยขอให้ประชาชนพิจารณาประโยชน์ ในการสวมหน้ากากอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นประโยชน์ด้านสุขอนามัยในการป้องกันการแพร่เชื้อและการรับเชื้อทั้งเชื้อโรคโควิดและโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รวมทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ

กระทรวงสาธารณสุข (กรมอนามัย) จึงมีข้อแนะนำให้ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสถานที่หรือในพื้นที่แออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรืออากาศระบายถ่ายเทไม่ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อ

กรณีเป็นผู้เข้าข่ายเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงหรือความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต (กลุ่ม 608) หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลา เมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ

กรณีเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้สัมผัสสี่ยงสูงจากเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่โรค

3. การเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพื่อการทำงานข้ามเขตกรุงเทพมหานคร และการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพื่อการทำงานภายในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการได้ตามปกติ

4. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการจำหน่ายและการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ โดยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการไว้ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ และคำแนะนำของทางราชการ

5. สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการได้ โดยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการไว้ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ และคำแนะนำของทางราชการ

6. สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ร้านทำเล็บ และร้านสัก สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

7. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

8. สถานที่ออกกำลังกาย ยิม หรือฟิตเนส สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

9. โรงมหรสพ โรงละคร การแสดงพื้นบ้าน หรือสถานที่ที่มีลักษณะเดียวกัน สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

10. สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอบไอน้ำ อบสมุนไพร สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

11. การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา ให้ดำเนินการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

12. การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสม โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ กรณีการจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนรวมกันมากกว่าสองพันคน ให้ผู้รับผิดชอบแจ้งการจัดกิจกรรมต่อสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อเป็นมาตรการเฝ้าระวังและกำกับติดตามมิให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดแบบเป็นกลุ่มก้อน (Cluster)

13. สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมอื่นที่มีได้กำหนดไว้ในประกาศนี้ สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร








กำลังโหลดความคิดเห็น