xs
xsm
sm
md
lg

กอนช. ลงพื้นที่อุบลฯ ซ้อมแผนเผชิญเหตุภาคอีสาน ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย มาตรการที่ 10 และมาตรการที่ 11 ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี โดยมี นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พร้อมด้วย ผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยทหาร เข้าร่วม

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ปริมาณฝนรายเดือนจากแผนที่ฝน ONE MAP พบว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปีนี้ กอนช. ประเมินว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน มีโอกาสเกิดฝนตกหนักบริเวณชายขอบและตอนล่างของภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีที่เป็นจุดปลายน้ำของแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล มวลน้ำจากทั้งสองแม่น้ำจะไหลมารวมกันก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขง ซึ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ประกอบกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการแผนรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการฤดูฝนปี 65 อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันและลดผลกระทบให้เกิดกับประชาชนน้อยที่สุด โดยเฉพาะในมาตรการที่ 10 การจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ และมาตรการที่ 11 การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ซึ่งหน่วยงานภายใต้ กอนช. ได้เตรียมความพร้อมรับมือภายใต้กลไกของ “ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ” ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เชื่อมโยงกับการรับมือสาธารณภัยด้านน้ำ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อฝึกการเตรียมความพร้อม ด้านบุคลากร ทรัพยากร สถานที่ สิ่งอำนวยสะดวกต่าง ๆ ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจนเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการบริหารจัดการน้ำและการเผชิญเหตุทั้งในส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ได้ร่วมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการ ให้สามารถบริหารจัดการ ติดตาม ประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งเตือน และให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบอย่างเป็นเอกภาพ ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันในการปฏิบัติงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เกิดทักษะ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานเครือข่ายด้วย

“กอนช. ลงพื้นที่ซ้อมแผนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จากสำนักงานชลประทานที่ 7 ในการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise) และจำลองสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัด สำหรับขั้นตอนการฝึก ประกอบด้วย การจำลองสถานการณ์ การจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และใช้กลไกการปฏิบัติตามโครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือ แผนเผชิญเหตุ โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ส่วนอำนวยการ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนสนับสนุน และส่วนประชาสัมพันธ์ ซึ่งหลังจากนี้ กอนช. จะลงพื้นที่ฝึกซ้อมแผนเผชิญในพื้นที่ภาคเหนือ ณ จ.พิษณุโลก ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ ต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น