ทุ่งเจ้าพระยาในฤดูฝน เปราะบางต่อมวลน้ำหลากอยู่แล้ว
ต้นฤดูฝนปี 2565 ฝนตกหนักในภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ น้ำหลากไหลลงเขื่อนภูมิพล 400-500 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระยะ 4-5 วัน
เขื่อนภูมิพลเก็บกักเป็นน้ำต้นทุนได้สบาย เพราะยังมีที่ว่างในอ่างเก็บน้ำเหลืออยู่อีกมาก ฝนมากอย่างนี้ไม่น่ากล้ว กลับเป็นผลดีต่อน้ำต้นทุนในอ่างฯ ด้วยซ้ำไป
“แต่พฤติกรรมของฝนพยากรณ์ได้ยาก ตกกระจุกหรือกระจาย ตกถี่หรือนานๆ ตก ล้วนมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ เช่นกันถ้าเกิดตกท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มากๆ โอกาสที่จะเกิดน้ำหลากกระทบพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างก็มีสูง“ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว
คำพยากรณ์เดิมที่ว่า ปริมาณฝนในปี 2565 จะมาก แต่จากการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนปีนี้โดยกรมอุตุนิยมวิทยาร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พบว่าปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศน้อยกว่าค่าปกติ 5%
ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความผันแปร ขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอนอย่างชัดเจน และยังไม่มีข้อสรุป จนกว่าจะสิ้นฤดูฝนปลายปีนี้
พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ไม่ว่าฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออก เป็นพื้นที่ต่ำและลุ่มต่ำท่อนสุดท้ายก่อนออกสู่ทะเล ดังนั้นถือเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในตัวอยู่แล้ว
การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาจึงผลักน้ำไปลงแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งระบายลงทะเลอ่าวไทย
แต่สภาพภูมิอากาศ และสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนไป เครื่องมือบริหารจัดการน้ำดังกล่าวจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ดร.สุรสีห์กล่าวว่า นอกจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออก 13 มาตรการ และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 มอบให้ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมการรับมือฤดูฝนแล้ว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งตนเองและคณะได้ลงติดตามการเตรียมพร้อมและสภาพปัญหาในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตั้งแต่เขื่อนพระราม 6 จ.พระนครศรีอยุธยา ลงมาจนถึงสถานีสูบน้ำหนองจอก กรุงเทพฯ
เขื่อนพระราม 6 เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำป่าสักและคลองชัยนาท-ป่าสัก ที่แบ่งน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะเดียวกันเป็นจุดบริหารจัดการน้ำ โดยผันน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์ไปทางตะวันออกและปล่อยลงท้ายเขื่อน ไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
ขณะที่คลองระพีพัฒน์ แม้จะขยายความจุรับน้ำจาก 210 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่ขณะนี้ขยายได้ 6 กิโลเมตร อีก 29 กิโลเมตรที่เหลือก็ยังคงรับน้ำเท่าเดิม ถ้าผันเข้ามา 400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เท่ากับต้นคลอง จะทำให้น้ำเอ่อล้นคลองส่วนที่เหลือท่วมได้ทันที พ้นจากคลองระพีพัฒน์เข้าคลองรังสิต รับน้ำได้ 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้การรับน้ำต้นคลองระพีพัฒน์ต้องจำกัดด้วยอัตรา 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีเท่านั้น น้อยกว่าอัตรารับน้ำเดิมที่ 210 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีด้วยซ้ำ โดยข้อจำกัดความจุคลองแต่ละช่วงพื้นที่ไม่เท่ากัน ทำให้การระบายน้ำจึงต้องเป็นไปตามสภาพที่เป็นจริง เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจทุกครั้งที่เกิดน้ำหลาก
ส่วนการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนพระราม 6 ไปยัง อ.ท่าเรือ ก็จำกัดด้วยความจุแม่น้ำป่าสักท้ายเขื่อน 800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ก่อนบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
“ต้นเดือนตุลาคม ปี 2564 น้ำมา 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงท่วม อ.ท่าเรือ 2 รอบ เราเตือนภัยหลังจากน้ำท่วมรอบแรกไปแล้วว่า อย่าเพิ่งขนของลงจากที่สูง พอน้ำท่วมอีกรอบ จึงไม่เสียหายซ้ำสอง”
สำหรับคลองชัยนาท-ป่าสัก ช่วงปลายคลองก่อนบรรจบแม่น้ำป่าสักหน้าเขื่อนพระราม 6 มีคลองส่งน้ำ 23 ขวา ใกล้ประตูน้ำเริงราง ประสบปัญหาคันกั้นน้ำพัง เมื่ออุทกภัยปี 2564 จนเกิดน้ำท่วม อ.บ้านหมอ อ.ดอนพุด จ.สระบุรี ก่อนไปลง อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยานั้น
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ได้เร่งรัดให้กรมชลประทานดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมก่อนน้ำหลาก โดยใช้งบประมาณ 6 ล้านบาทปรับปรุงภายใน 30 วัน ให้แล้วเสร็จก่อนถึงฤดูน้ำหลาก
นอกจากนั้น กรมชลประทานได้ตั้งงบประมาณอีก 120 ล้านบาท ก่อสร้างประตูระบายน้ำตรงปากคลองส่งน้ำ 23 ขวาในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำช่วงปลายคลองชัยนาท-ป่าสัก คล่องตัวขึ้น
“สทนช.มาติดตามรับฟัง และเร่งรัดแก้ไขปัญหา พร้อมให้ความร่วมมือทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องในฐานะองค์กรกลางด้านน้ำ” เลขาธิการ สทนช.ย้ำ