“ประวิตร” แถลงโชว์ผลงานแก้น้ำแล้ง ไทยไม่มีประกาศภัยแล้งปี 64 พร้อมวาง 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 สั่งเก็บกักน้ำสำรองทุกแหล่ง เกาะติดพื้นที่เสี่ยงต่อเนื่อง
วันนี้ (6 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.15 น. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และ ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการแถลงผลงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 และการเตรียมรับมือฤดูฝน ปี 2565 โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนทุกหน่วยงานด้านน้ำเข้าร่วม
โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ความสำเร็จในการบูรณาการแก้ไขปัญหาในช่วงฤดูแล้งปี 64/65 ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยไม่มีการประกาศภัยแล้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติการตามมาตรการและแผนเชิงรุก เพื่อรับมือภัยแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด สามารถลดและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับฤดูฝนปี 65 นี้ รัฐบาลได้กำหนด 13 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยเพิ่มเติม 3 มาตการ คือ การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย การจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซ้อมแผนเผชิญเหตุ รวมถึงการตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนนี้ และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปีนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น ในวันนี้จึงกำชับมอบหมายให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุได้อย่างทันท่วงที รวมถึงวางแผนเก็บกักน้ำสำรองทุกแหล่ง ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินไว้รองรับฤดูแล้งหน้าด้วย
พล.อ.ประวิตร กล่าวกำชับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุได้อย่างทันท่วงที รวมถึงวางแผนเก็บกักน้ำสำรองทุกแหล่ง ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินไว้รองรับฤดูแล้งหน้าด้วย ทั้งนี้ ขอกำชับทุกหน่วยงานปฏิบัติงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน โดยเฉพาะการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งได้มีการฝึกซ้อมแผนไปแล้วในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักประสบปัญหาอุทกภัยเนื่องจากฝนตกหนักและน้ำหลากเข้าท่วมในพื้นที่ราบลุ่ม และจะนำแผนการซ้อมแผนการซักซ้อมดีงกล่าวมาใช้ประกอบการฝึกซ้อมในพื้นที่อื่นด้วยเพื่อเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำหลาก
ด้าน นายสุรสีห์ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานได้ร่วมบูรณาการตามกรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง โดยกำหนด 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 64/65 อีกทั้ง ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 65 รวม 2,525 โครงการ มีพื้นที่รับประโยชน์ 67,616 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 33.88 ล้านลูกบาศก์เมตร และประชาชนได้รับประโยชน์ 76,004 ครัวเรือน.