สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะองค์กรกลางด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนแม่บทน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ของประเทศ
พูดง่ายๆ เพื่อเป็นคัมภีร์บริหารจัดการน้ำ สำหรับทุกหน่วยงานด้านน้ำกว่า 40 หน่วยงานยึดถือร่วมกัน
แต่การจะบูรณาการให้หน่วยงานด้านน้ำเดินไปตามทิศทางดังกล่าว สทนช.จำเป็นต้องมีแนวทางเครื่องมือให้ทุกหน่วยเข้าถึงด้วย
นั่นหมายถึงแผนปฏิบัติการทรัพยากรน้ำ และแผนงบประมาณจากทุกหน่วยงานน้ำ ต้องผ่านเข้ามาในช่องประตูเดียว เพื่อคัดกรองความเหมาะสม ลดทอนความซ้ำซ้อน ประหยัดงบประมาณ ต้องเป็นไปตามแผนแม่บทน้ำที่วางไว้ และเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามที่ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดไว้
หน่วยคัดกรองแผนปฏิบัติการน้ำ และแผนงบประมาณสุดท้าย จึงเป็น สทนช. ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ กนช.
ถือเป็นเรื่องดีที่ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องและคุมงานด้านน้ำอย่างสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย ต่างเอาด้วยกับแนวคิดนี้ ดังนั้น ไม่ว่าแผนงานปฏิบัติการน้ำจะมาจากช่องทางไหน สุดท้ายต้องผ่าน สทนช.เพียงช่องเดียว
การบริหารจัดการน้ำของประเทศจึงเริ่มเห็นภาพชัด เห็นเป้าหมายรวมที่ร้อยเรียงเป้าหมายส่วนตัวของทุกหน่วยเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำมีพลังในทิศทางเดียวกัน
เครื่องมือของ สทนช.ที่ว่า เรียกว่า Thai Water Plan (TWP) เป็นระบบที่จัดทำเพื่อให้หน่วยงานด้านน้ำทุกหน่วย ทั้งส่วนกลาง จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เสนอแผนปฏิบัติการด้านน้ำของตัวเองเข้ามา โดยเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2566 เป็นปีแรก
ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแผนปฏิบัติการน้ำจากส่วนกลางราว 80% ที่เหลือ 20% เป็นของจังหวัด และ อปท.
ในระบบ TWP เดิมใช้ 2 แบบฟอร์ม ตอนนี้ปรับปรุงเป็นเวอร์ชันเดียวกัน เหลือแบบฟอร์มในการเสนอแผนปฏิบัติการน้ำแบบเดียวคือ แบบฟอร์ม สทนช.001
พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเสนอแผนปฏิบัติการได้ถึงเดือนกันยายน 2565 สำหรับปีงบประมาณ 2567 เพื่อให้สอดรับกับการทำงานของจังหวัด และ อปท.
“ระบบนี้ทำให้ทุกส่วนเกี่ยวข้องกับน้ำสามารถเข้าถึงได้ ขณะเดียวกัน สทนช. ในฐานะผู้พิจารณาสามารถตรวจการบ้านได้ว่าแผนงานโครงการที่เสนอมาตรงกับแผนแม่บทน้ำหรือไม่ ซ้ำซ้อนหรือทับซ้อนกันไหม มีความคืบหน้าอย่างไร และแม้บางแผนงานโครงการอาจพลาดงบประมาณปี 2566 ไปก็จะยังคงปรากฏรายการอยู่ในปี 2567 ถัดมา เพื่อรอยืนยันจากเจ้าของแผนงานโครงการว่าจะเดินหน้าต่อหรือยุติโครงการ เป็นผลดีที่ไม่ต้องเสนอใหม่ และสามารถทำแผนได้อย่างเป็นระบบ” ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.กล่าว
ขณะเดียวกัน สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่หน่วยงานเกี่ยวข้อง ไม่สามารถเสนอแผนปฏิบัติการด้านน้ำได้ แต่สามารถเข้าไปติดตามตรวจสอบดูได้ว่า ในพื้นที่ใด มีหน่วยงานไหน ทำโครงการใดบ้าง มีความคืบหน้าประการใด
ทั้งนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เป็นประธานเปิดการประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านน้ำ ปีงบประมาณ 2567 ผ่านระบบ Thai Water Pan รวมทั้งแผนแม่บทน้ำ 20 ปี เมื่อเร็วๆ นี้
“เป้าหมายหลักของการประชุม มุ่งให้หน่วยงาน จังหวัด และ อปท. มีความรู้ความเข้าใจแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี และแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านน้ำผ่านระบบ Thai Water Plan ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้ สทนช.ได้มีการปรับปรุงพัฒนาระบบให้มีความง่าย สะดวก รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังให้สิทธิ์ทุก อปท.สามารถเสนอแผนฯ ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านหน่วยงานกลางอย่างที่ผ่านมาอีกด้วย”
เครื่องมือจัดทำแผนปฏิบัติการด้านน้ำ หรือ Thai Water Plan นี้ ยังเป็นของใหม่ อาจยุ่งยากในระยะเริ่มต้น แต่อีกไม่นานจะค่อยๆ พัฒนาดีขึ้น ครอบคลุมยิ่งขึ้น และใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำของประเทศได้อย่างชัดเจนที่สุด และมีประสิทธิภาพเท่าที่เคยมีมา
เป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล สทนช. หน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งจะยังประโยชน์แก่ประเทศโดยส่วนรวมตามมา