“ศักดิ์สยาม”กระชับความสัมพันธ์”ญี่ปุ่น”โชว์แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกมิติ เชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์ภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อ พร้อมเดินหน้าลงทุนระบบราง ไฮสปีด และท่าเรือ ชิฟโหมดขนส่ง ลดต้นทุนอย่างยั่งยืน ชูไทยประตูการค้าเชื่อมอาเซียน
วันที่ 15 มิถุนายน 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายคาสุยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานสัมมนา เรื่อง “โลจิสติกส์ภูมิภาคอาเซียนท่ามกลางกระแสคลื่นแห่งความยากลำบาก - สถานการณ์ปัจจุบันในภูมิภาคอาเซียนโดยมุ่งเน้นที่ประเทศไทย” เนื่องในโอกาสการฉลองครบรอบ 1 ปี การตั้งสำนักงานสถาบันวิจัยด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น สำนักงานภูมิภาคอาเซียน - อินเดีย (Japan Transport and Tourism Research Institute, ASEAN - India Regional Office: JTTRI - AIRO) ณ กรุงเทพฯ พร้อมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทย” โดยรูปแบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ใน ณ ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นที่ได้ดำเนินความร่วมมือด้านการคมนาคมมีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมศักยภาพด้านโลจิสติกส์ให้แก่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และผลักดันให้ประเทศไทยโดยกระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกมิติเพื่อสนับสนุนให้เกิดการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และปลอดภัย เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ ให้มาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
โดยมีการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ 1. มิติการพัฒนาทางถนน ประเทศไทยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาสะพานมิตรภาพเชื่อมโยงระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีสะพานเชื่อมไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเปิดใช้งานแล้ว จำนวน 11 แห่ง เป็นสะพานเชื่อมระหว่างไทย - สปป.ลาว จำนวน 5 แห่ง สะพานเชื่อมระหว่างไทย - เมียนมา จำนวน 3 แห่ง สะพานเชื่อมระหว่างไทย - มาเลเซีย จำนวน 2 แห่ง สะพานเชื่อมระหว่างไทย - กัมพูชา จำนวน 1 แห่ง สะพานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 1 แห่ง ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) จังหวัดบึงกาฬ และมีสะพานที่อยู่ในแผนจะดำเนินการในอนาคตอันใกล้อีกจำนวน 3 สะพาน ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี - สาละวัน) จังหวัดอุบลราชธานี สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
และยังมีแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า หรือ Truck Terminal รองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนสู่ทางราง สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งด้วยระบบราง โดยมีโครงการนำร่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย และศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม
2. มิติการพัฒนาทางราง ซึ่งโครงข่ายรถไฟของไทยมีการเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซีย กัมพูชา และ สปป.ลาว ในปัจจุบันกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งรัดการก่อสร้างโครงข่ายรถไฟทางคู่ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารผ่านระบบรางเพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันสามารถพัฒนารถไฟทางคู่ไปแล้ว 1,110 กิโลเมตร จากทั้งหมด 3,200 กิโลเมตร
และยังมีโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา-หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว - จีน และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา)
3. มิติการพัฒนาทางน้ำ คือการขยายขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายท่าเรือบกเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้า การนำเข้าและส่งออกของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. มิติการพัฒนาทางอากาศ คือ การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการพัฒนาสนามบินในเมืองภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี หาดใหญ่ ภูเก็ต กระบี่ และบุรีรัมย์ เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศไทยและระหว่างอาเซียน
แผนการพัฒนาดังกล่าวจะช่วยสร้างให้ความมั่นใจ แก่ทุกภาคส่วนว่า จะมีการพัฒนาที่ช่วยรองรับการขยายตัวทางการค้า การลงทุน ในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม โลจิสติกส์ เทคโนโลยี และการท่องเที่ยวในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
อีกทั้งในอนาคตกระทรวงคมนาคมยังมีเป้าหมายในการจัดทำแผนแม่บท MR-Map เพื่อการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ควบคู่กับรถไฟทางคู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้มีความสะดวก และปลอดภัย ลดต้นทุนด้านการขนส่งของประเทศในระยะยาว เพิ่มโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงโครงการ Land Bridge ชุมพร - ระนอง ที่จะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนในอนาคตและยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญ
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในมุมมองที่เกี่ยวกับ “ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทย” การเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของเมือง เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่มีผลต่อการขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศ การจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) มุ่งเน้นการรองรับวิถีชีวิตและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านต่าง ๆ โดยยึดหลักการขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การขนส่งที่เข้าถึงได้อย่างเสมอภาค และเท่าเทียมและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
โดยที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยและทะเลอันดามันที่จังหวัดชุมพรและระนอง หรือ Land Bridge ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความเชื่อมโยงของโครงข่ายการขนส่งทางบก ทางรางกับทางน้ำ ระหว่างไทยและประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาศักยภาพโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานทางทะเล และเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นประตูการค้าเชื่อมอาเซียนและจีนตอนใต้ในอนาคตต่อไป