xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.รุกตลาดขนส่งสินค้า จับมือเอกชนขนเกลือจากแหล่งบัวใหญ่-มาบตาพุด รับรายได้ 36 ล้าน/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.เดินขบวนรถคอนเทนเนอร์บรรทุกเกลือ "สถานีมาบตาพุด-ชุมทางบัวใหญ่" นำร่องสัญญา 1 ปี ขน 25 ตู้/เที่ยว เดือนละ 15 ขบวน คาดรายได้ 36 ล้าน พร้อมปรับกลยุทธ์รุกตลาดขนส่งสินค้า ดึงเอกชนชิฟต์โหมด รับรถไฟทางคู่เสร็จเพื่อลดต้นทุน

วันนี้ (10 มิถุนายน 2565) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานในพิธีเปิดเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์บรรทุกเกลือ ระหว่างสถานีมาบตาพุด-ชุมทางบัวใหญ่ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท เอ็น. อี. (1992) จำกัด ณ สถานีมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เพื่อเป็นการสนับสนุนการขนส่งสินค้าจากแหล่งวัตถุดิบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงไปยังโรงงานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการขนส่งสินค้า สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนพัฒนาระบบรางให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ เช่น รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เพื่อขนส่งสินค้าระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับภาคตะวันออก และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยใช้หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 20 ตัน ที่สามารถลากจูงได้สูงสุด 2,500 ตันต่อขบวน พร้อมแคร่บรรทุกตู้สินค้าที่สามารถเพิ่มปริมาณการขนส่ง รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและศูนย์บริการโลจิสติกส์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า หรือการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า สถานีขนส่งสินค้า รวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์การยกขนตู้สินค้าทางรถไฟในแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานการผลิตอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางรางถือเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน ปลอดภัยและมีความคุ้มค่า สามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนมากกว่าทางถนนหลายเท่าตัว อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการช่วยเพิ่มรายได้แก่ รฟท. อีกทางหนึ่ง

สำหรับความร่วมมือการเปิดเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ บรรทุกเกลือ ระหว่างสถานีมาบตาพุด-ชุมทางบัวใหญ่ กับ บริษัท เอ็น. อี. (1992) จำกัด นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่มีส่วนสำคัญที่ รฟท.ให้การสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากแหล่งวัตถุดิบในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ส่งต่อไปยังโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ภายใต้กรอบระยะเวลา 1 ปี (31 มี.ค. 2565-31มี.ค. 2566) โดยขนส่งสินค้าจากศูนย์กองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard) ที่สถานีชุมทางบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ไปยังสถานีรถไฟมาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยตู้คอนเทนเนอร์วางบนแคร่ จำนวน 25 แคร่ ความยาว 50 ตู้ บรรทุกน้ำหนัก 62 ตัน/เที่ยว อัตราค่าขนส่งแบบเหมาขบวนรถไปกลับเที่ยวละ 250,000 บาท ปริมาณการขนส่งในแต่ละเดือน 15 ขบวน รวม 144 ขบวน คิดเป็นมูลค่าการขนส่งรวม 36 ล้านบาท

"บริษัทฯ วางแผนที่จะพัฒนาความร่วมมือกับ รฟท.ในระยะยาว โดยการลงทุนจัดหาตู้สินค้าเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าทางรถไฟโดยเฉพาะ เนื่องจากการขนส่งทางรถไฟสามารถอำนวยความสะดวกทั้งในด้านปริมาณการขนส่งและช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง รวมทั้งช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่งได้เป็นอย่างดี"

นายนิรุฒกล่าวว่า การจะให้ผู้ประกอบการขนส่งหันมาใช้รถไฟขนส่งสินค้าแทนรถยนต์ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีรายละเอียดมาก ทั้งด้านเทคนิค และต้นทุน ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มโครงข่ายรถไฟทางคู่ ทำให้เพิ่มความจุของทาง ดังนั้น รฟท.ต้องปรับการบริหารจัดการ โดยหาคู่ค้าที่มีศักยภาพ การขนส่งเกลือเส้นทางบัวใหญ่-มาบตาพุดแบบเหมาขบวน ถือเป็นต้นแบบที่ รฟท.และเอกชนทำงานร่วมกัน และในอนาคตต้นทุนจะลดลงหากมีปริมาณขนส่งมากขึ้น โดย รฟท.จะเร่งทำการตลาด หาลูกค้าเพิ่ม รวมถึงจัดหาแคร่สินค้าเพิ่มอีก 965 แคร่ วงเงิน 2.3 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการจัดหาที่เหมาะสม

การรถไฟฯ เชื่อมั่นว่าการขนส่งสินค้าทางรางมีโอกาสขยายตัวได้มากในอนาคต โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูง ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งทางถนนเพิ่ม การขนส่งทางรางจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ ประกอบกับรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ มีการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางรถไฟสายใหม่ รวมถึงมีการจัดหาหัวรถจักรรุ่นใหม่ ซึ่งจะเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งให้กว้างขึ้น ทำให้บริษัทขนส่งต่างๆ มีความเชื่อมั่นต่อการขนส่งสินค้าทางราง เห็นได้จากมีลูกค้าสนใจติดต่อเข้ามาเปลี่ยนโหมดมาใช้บริการขนส่งทางรถไฟอย่างต่อเนื่อง

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็น. อี. (1992) จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนขนส่งเกลือจากรถบรรทุกมาเป็นรถไฟ ในช่วงแรกยังไม่สะท้อนเรื่องการลดต้นทุนมากนักเพราะเพิ่งเริ่มต้น แต่ทั้งนี้ บริษัทฯ มองในมุมผลประโยชน์ทางสังคม การลดปริมาณรถบรรทุกบนถนน และช่วยลดการใช้น้ำมันไม่น้อยกว่า 1 ล้านลิตร/ปี นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงอุบัติเหตุบนถนนและลดคนขับรถได้ 70 คน สามารถนำรถบรรทุกไปใช้ประโยชน์เพิ่ม

ปัจจุบันบริษัทฯ มีการขนส่งเกลือออกจากบัวใหญ่ประมาณ 1 ล้านตัน โดยส่งไปที่โรงงานมาบตาพุด 2,000 ต้น/วัน หรือ 6-7 แสนตัน/ปี ซึ่งขณะนี้ได้ปรับมาขนส่งทางรถไฟประมาณ 50% หากภาพรวมมีผลดีจะเพิ่มสัดส่วนมาทางรถไฟทั้งหมดต่อไป โดยจะมีการเพิ่มเที่ยววิ่งและเพิ่มแคร่

นอกจากนี้ จะหาสินค้าอื่นมาขนส่งร่วม และเป็นสินค้าเที่ยวกลับจากมาบตาพุด-บัวใหญ่ ซึ่งจะเพิ่มความคุ้มค่ายิ่งขึ้น










กำลังโหลดความคิดเห็น