xs
xsm
sm
md
lg

พีเอฟ มุ่งมั่นสร้างห่วงโซ่ผลิตอาหารที่เคารพสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ปราศจากการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ ในฐานะประธานความมุ่งมั่นด้านสิทธิมนุษยชนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต กล่าวว่า การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล ปฏิบัติต่อบุคคลและกลุ่มบุคคลอย่างเท่าเทียม ปราศจากการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งหมายรวมถึงพนักงาน คู่ค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม บริษัทฯ ตระหนักดีว่าความแตกต่างและความหลากหลายของพนักงาน มีความสำคัญและเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศและทั่วโลก ซึ่งนับเป็น1 ใน 9 ความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ในการบริหารจัดการดูแลทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม มีแนวปฏิบัติด้านแรงงานอย่างชัดเจนตามมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2563) รวมไปถึงมาตรฐานสากลและข้อกำหนดของคู่ค้า มุ่งเน้นสร้างวัฒนธรรมการยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลายภายในองค์กร ปราศจากการเลือกปฏิบัติอย่างเด็ดขาด (Zero Tolerance Approach) ไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ต่อต้านและป้องกันการล่วงละเมิดในทุกรูปแบบ

“ซีพีเอฟมุ่งเน้นการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศ และการลดความเหลื่อมล้ำ คุ้มครองกลุ่มเปราะบางทั้งกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และแรงงานคนพิการ รวมทั้งบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)” นางสาวพิมลรัตน์กล่าว

ซีพีเอฟประกาศความมุ่งมั่นในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีผ่านนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและนโยบายด้านการจ้างงานและการบริหารแรงงาน โดยการจ้างแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในทุกมิติ รวมถึงการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างมีจริยธรรม ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอายุขั้นต่ำในการจ้างงาน ไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานบังคับในทุกรูปแบบ เคารพความแตกต่างและปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียม

บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (มูลนิธิ LPN) ตั้งแต่ปี 2560 จัดการอบรมให้พนักงานมีความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งดำเนินช่องทางการรับฟังเสียงพนักงานผ่านองค์กรกลาง “ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN” เพื่อให้พนักงานทุกคนสะดวกใจในการร้องเรียนปัญหาและข้อเสนอแนะ ช่วยให้บริษัทฯ สามารถปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนได้ทันสถานการณ์ และในปีนี้ บริษัทฯ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานข้ามชาติที่เคยมาทำงานกับซีพีเอฟถึงภูมิลำเนาในประเทศกัมพูชา และส่งเสริมตัวแทนจัดหาแรงงานในประเทศต้นทางดำเนินการจัดหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบและโปร่งใส ตอกย้ำความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

แนวทางหนึ่งที่ซีพีเอฟพยายามลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสนับสนุนให้พนักงานทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนของพนักงานจากทุกระดับและสายงาน เพื่อเปิดโอกาสในการเสนอแนะให้บริษัทฯ พิจารณาปรับปรุงในด้านสวัสดิการ สภาพแวดล้อมการทำงาน และการบริหารจัดการด้านแรงงานที่ไม่เหมาะสม โดยกำหนดให้แต่ละสถานประกอบการของบริษัทฯ มีจำนวนกรรมการในคณะกรรมการสวัสดิการตามสัดส่วนของพนักงานในสถานประกอบการแต่ละแห่ง ซึ่งสูงกว่าจำนวนขั้นต่ำ 5 คนตามที่กฎหมายกำหนด โดยสูงสุดไม่เกิน 17 คน และกำหนดให้ตัวแทนลูกจ้างในคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการมีความหลากหลายครอบคลุมพนักงานทุกกลุ่มทั้งในมิติเรื่องเพศ สัญชาติ ศาสนา และความพิการ

อีกทั้งในกรณีที่คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาไม่มีความครอบคลุมกลุ่มเปราะบางดังกล่าว บริษัทฯ ก็จะจัดให้มีคณะอนุกรรมการสวัสดิการเพื่อให้ครอบคลุมความหลากหลายของพนักงาน ซึ่งเป็นแนวทางส่งเสริมให้พนักงานทุกคน ทุกระดับ ทุกกลุ่ม ได้มีส่วนร่วมในการแสดงมุมมอง ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงด้านสวัสดิการให้พนักงานทุกคนได้อย่างเสมอภาค

บริษัทฯ ยังมีการจัดอบรมให้ความรู้ และร่วมพัฒนาคู่ค้าธุรกิจ และเกษตรกรมีการจัดจ้างแรงงานอย่างถูกต้อง ไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบรวมทั้งการใช้แรงงานเด็ก นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับองค์กรทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และลดความเสี่ยงการใช้แรงงานเด็กในห่วงโซ่ผลิตอาหาร ผ่านความร่วมมือจัดตั้งและดำเนินงาน ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Songkhla Fishermen Life Enhancement Center หรือ ศูนย์ FLEC) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง ที่อยู่ในจังหวัดสงขลา พร้อมทั้งสนับสนุนให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2559 จนถึงปี 2564 ศูนย์ FLEC ได้มีส่วนช่วยบุตรหลานแรงงานข้ามชาติในภาคประมงจังหวัดสงขลากว่า 200 คนเข้าถึงระบบการศึกษาและได้รับการพัฒนาทักษะความรู้เหมาะสมกับช่วงวัย


กำลังโหลดความคิดเห็น